วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนางานกายภาพบำบัด กับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กภ.อัญภัชชา สาครขันธ์
โรงพยาบาลโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม
 
การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ดูเหมือนจะง่ายหากสามารถบูรณาการงานประจำ ให้เป็นงานคุณภาพได้ เช่นการอบรมให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตน แก่คนไข้ที่มารับบริการ แต่การทำเช่นนี้อาจได้ประโยชน์เพียงแค่คุณภาพของการให้บริการแก่คนไข้รายหนึ่งอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นมีจำนวนผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการการดูแล และต้องการความรู้ในการดูแลตนเอง ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้การดูแลคนไข้ให้ครอบคลุมมากที่สุด ในระยะเวลาจำกัด ก็คงจะหนีไม่พ้น “การอบรม” พอนึกถึงการอบรม ก็ทำนึกถึง “ห้องเรียน ห้องประชุม วิทยากร  อาหาร ค่าเดินทางและอีก จิปาถะ...” ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การบูรณาการงานประจำ เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความครอบคลุม นอกจากหัวและใจแล้ว คงต้องใช้แรงขับเคลื่อนอื่นอีก นั่นคือ “งบประมาณ”

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการในโรงพยาบาลชุมชน ดูเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากมากสำหรับ นักกายภาพบำบัด ตัวน้อยๆ เพราะในตอนนั้นเอง นักกายภาพบำบัดส่วนใหญ่เป็นเด็กจบใหม่ และยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งปีกยังไม่กล้าขายังไม่แข็ง เรื่องงบซึ่งเป็นเรื่องของผู้หลักผู้ใหญ่ในโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่นักกายภาพบำบัด ไม่อาจเข้าถึงและล่วงรู้ได้ ดังนั้นจะเห็นว่า การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ในช่วงปีแรกๆของการเข้าสู่วงการโรงพยาบาลชุมชนของนักกายภาพบำบัด จึงได้แค่การทำงาน รูทีน ไปวันวัน หรืออย่างมาก ก็เบิกงบประมาณจากเงินบำรุงโรงพยาบาลมาใช้ในโครงการต่างๆ...ซึ่งก็รู้สึกเกรงใจคนในโรงพยาบาลมิใช่น้อย เนื่องจาก มักจะได้ข่าวเนืองๆเสมอว่า เงินบำรุงน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด

และแล้ว ก็มีอัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาช่วย ในนาม..”สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช." ถ้าจำไม่ผิด ..สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อ ปี 2545  ภายใต้ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และสร้างนำซ่อม ในเวลาต่อมา ซึ่งเราเองก็งงว่ามันคืออะไร แล้วถ้าจ่ายแค่ 30 บาท แล้วโรงพยาบาละเจ๊งมั้ย ต่อมาอีกซักพัก ก็มีคำย่อให้เราได้งงกันอีก นั่นก็คือ CUP PCU CMU ซึ่งแรกๆ เราก็เรียกถูกเรียกผิด จนเดี๋ยวนี้ก็ยังแยกไม่ถูกว่าอะไรคืออะไร หนักเข้าไปใหญ่ เพราะปัจจุบันก็มี รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เข้ามาให้งงกันเข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีอะไร จะชื่อย่ออย่างไร ขอแค่ให้เราเข้าใจ concept งานของสปสช. ก็สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

ประเด็นแรก เรื่องงบประมาณ ที่สามารถขอได้จากสปสช.นั้น ปัจจุบันมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ที่ให้โรงพยาบาลที่มีนักกายภาพบำบัด สามารถของบประมาณเพื่อการจัดซื้อเครื่องช่วยความพิการได้ นอกจากนั้นแล้วในการดูแลเชิงรุกแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถบันทึกข้อมูลในโปรแกรม online ของ สปสช. ในอัตราค่าบริการทางกายภาพบำบัด 150 ต่อคนต่อครั้ง แล้วเชื่อมั้ยว่า..เงิน 150 บาท สามารถใช้เป็นงบประมาณในการบริหารจัดการงานกายภาพบำบัดและงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้เป็นอย่างดี พูดเรื่องนี้อาจยาว..เอาเป็นว่า โรงพยาบาลโกสุมพิสัย มีนักกายภาพบำบัดคนที่ 4 ก็จากงบประมาณส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม สปสช.ยังมีหลายช่องทางในการให้พวกเราของบประมาณ เพื่อมาขับเคลื่อนงานกายภาพบำบัด รวมถึงงานฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เช่น งบประมาณจาก กองทุนสุขภาพตำบล จริงอยู่ว่า งบประมาณก้อนนี้จะโอนไปที่ อบต. แต่ จากการบอกเล่าจากผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ว่าเราก็สามารถเขียนโครงการของบได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะเป็นโครงการที่ดำเนินการแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น  เรื่องงบประมาณยังมีอีกหลายกองทุน ไม่ว่าจะเป็น PP ,non-pp, pp-area base  ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ไม่ใคร่จะชัดเจนนักในงบประมาณเหล่านี้ เพราะกะว่าขอเอาที่มันชัวร์ๆ คือจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และกองทุนสุขภาพตำบล จะดีกว่า

ประเด็นที่สอง สปสช.มีการโอนงบประมาณ แบบเหมาจ่ายรายหัวให้กับสถานบริการ ตามรายหัวประชากร ประมาณหัวละ 2พันกว่าบาท หมายถึง หากโรงพยาบาลโกสุมพิสัยมีประชากร ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 1แสนคน คูณ 2 พัน = สองล้านกว่าๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร ดังนั้นตาม สโลแกนที่ว่า  30 บาท รักษาทุกโรค ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะ สปสช. ได้เหมาจ่ายมาให้แต่ละหน่วยบริการแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้เงินมาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะรักษา หรือให้บริการยังไงก็ได้ เราก็ยังต้องทำงานให้เต็มที่ ถูกต้อง แม่นยำ รวมไปถึงข้อมูลสารสนเทศด้วย เป็นต้นว่า การบันทึกข้อมูลการรักษาในระบบคอมพิวเตอร์ เพราะข้อมูลนี้จะถูกส่งไปยังสปสช. เพื่อจะแปลงข้อมูลเป็นเงิน มาล้างหนี้ให้โรงพยาบาลอีกที เอาล่ะสิคะ..จู่ๆโรงพยาบาลก็เป็นหนี้สปสช. จริงๆแล้วก็ไม่ใช่หนี้อะไร แต่เป็นเงินที่โอนมานั่นแหละค่ะ ประมาณว่า สปสช.ให้เงินเรามาก่อน แล้วเราก็ทำงานและบันทึกข้อมูลส่งสปสช. เพื่อเป็นการรายงานว่า ทำงานแล้วนะ คุ้มค่าเงินที่สปสช.ให้มาแล้วนะ อะไรประมาณนี้

พูดถึงเรื่องหนี้...ล่าสุด งานกายภาพบำบัดตรวจเท้าเบาหวาน เพื่อให้รองเท้าแก่ผู้ป่วยเบาหวาน สปสช.โอนเงินมาให้ ประมาณ 8 หมื่นกว่าๆ ดีใจหมดเลย แต่พออ่านรายงานจนบรรทัดสุดท้าย กลับบอกว่า “สปสช.ชะลอการจ่ายเงิน เนื่องจากโรงพยาบาลมีหนี้ค่าบริการทางการแพทย์ฯ...” ถึงตรงนี้แล้ว..เลยทำให้เรารู้ว่า...”โรงพยาบาลเป็นหนี้สปสช.จริงๆด้วย” ทุกวันนี้ เลยกลายเป็น ตรวจเท้าใช้หนี้...

ประเด็นที่สาม สปสช.ยังขยันที่จะสร้างนโยบาย นั่นนี่ ที่เราไม่อาจกระพริบตา เพราะเปลี่ยนบ่อย ก็เนื่องจาก สปสช.เป็นหน่วยงานที่การตรวจสอบคุณภาพเสมอ เรื่องการบริหารจัดการ ต้องยกนิ้วให้สปสช.เขาเลย

หากใครอยากตาม สปสช. ให้ทัน ต้องเข้าไปใน web nhso.go.th กันบ่อยๆ มีเรื่องราวสาระน่ารู้ ให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอๆ เพราะดูเหมือนว่า สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นพ่อ และมี สปสช. เป็นแม่ เพราะมีหน้าที่จ่ายสตังค์ให้กับลูกๆ ฉะนั้นลูกๆอย่างเรา ก็ต้องตั้งใจทำงาน เพื่อให้เงินที่แม่ให้มาคุ้มค่าที่สุด

สปสช.ยังมีอะไรๆอีกเยอะแยะ ที่เป็นระบบ โครงข่าย โยงใยกันซับซ้อน แต่ความซับซ้อนนี้ ก็เต็มไปด้วย นโยบายที่อยากให้คนไทยมีสุขภาพดี อยากรู้จัก สปสช. ต้องเข้าไปดูที่ web สปสช. ได้นะคะ

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคเรื้อน

กายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคเรื้อน

กภ.เอกลักษณ์ ชาญนชา
นักกายภาพบำบัดชำนาญการพิเศษ
โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น


               โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังทำให้เกิดอาการที่ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดความพิการของอวัยวะที่ใบหน้า ตา มือ และเท้า จากสภาพความพิการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเรื้อนทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวนั้นเกิดความวิตกกังวล หมดกำลังใจ ไม่กล้าเปิดเผยตนเองกับสังคมเพราะอับอายความพิการที่เกิดขึ้นกับตนเอง ต้องเป็นภาระให้ผู้อื่น และสุดท้ายต้องถูกจำกัดสิทธิมนุษยชนจากสังคม กลายเป็นตราบาปที่สังคมมีต่อผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีความพิการทางร่างกาย โดยทั่วไปประชาชนจะมองว่า โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อร้ายแรงควรต้องแยกผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล หรือนิคมต่างๆเพื่อไม่ให้แพร่กระจายโรคไปสู่คนอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการยอมรับให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความพิการในระดับที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือบางคนแม้จะไม่พิการ แต่ก็ไม่สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้
               ปัจจุบันปัญหาการเกิดความพิการระดับ 2 โดยเฉพาะการเกิดแผลใต้ฝ่าเท้าในผู้ป่วยโรคเรื้อนยังคงพบว่ามีอยู่ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง รวมทั้งต้องสูญเสียทรัพยากรด้านการแพทย์ และงบประมาณในการดูแลรักษาใต้ฝ่าเท้า ซึ่งสาเหตุหลักของการนำมาสู่การเกิดแผลใต้ฝ่าเท้านั้นเกิดจากเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย (Peripheral nerve damage) การทำลายของเส้นประสาทส่วนปลายทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา ไม่รู้สึก ไม่สามารถรับรู้ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากของแหลมคม ความร้อน ความเย็น ตลอดจนแรงกดทับที่ผิดปกติ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด จนเกิดการขาดเลือดของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นจนเกิดแผลในที่สุดและเมื่อมีแผลผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ เดินลงน้ำหนักบริเวณที่มีแผล ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และลุกลามเป็นแผลมะเร็งต้องถูกตัดขาไปทั้งๆที่สามารถป้องกันและฟื้นฟูได้โดยการที่ผู้ป่วยต้องรู้จักดูแลเท้าด้วยตนเองที่มีสภาพความพิการอย่างถูกต้อง
               ผู้ป่วยโรคเรื้อนทุกรายไม่จำเป็นต้องมีความพิการเสมอไป มีเพียงส่วนน้อยคือ ประมาณ 25-26% เท่านั้นที่มีความพิการ ซึ่งโดยมากเกิดตามหลังจากเป็นโรค หรือมีรอยโรคเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีอาการของความพิการเกิดขึ้นจนพัฒนาเป็นความพิการที่ถาวร สิ่งต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาได้ถ้าได้รับการดูแลที่ถูกต้องและทันท่วงที เช่นผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการชาหรืออ่อนแรงของมือไม่เกิน 6 เดือน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลเรื่องเส้นประสาทอักเสบอย่างถูกต้องและใกล้ชิด แต่ถ้าผู้ป่วยนิ้วมืองอหรือมีความพิการที่มือถาวรแล้ว ก็ยังมีวิธีช่วยผู้ป่วยได้อีก คือการผ่าตัดแก้ไขความพิการ เป็นต้น ดังนั้นในปัจจุบันงานด้านบริการกายภาพบำบัดมีบทบาทอย่างมากในแง่การส่งเสริมสุขภาพ การรักษา การป้องกัน รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้ผู้ป่วยและผู้พิการช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้พิการด้วย

สาเหตุของความพิการ
          การทำลายของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve damage) ในผู้ป่วยโรคเรื้อน ซึ่งโรคเรื้อนถือได้ว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพใน 2 ส่วนร่างกาย คือ ผิวหนังและเส้นประสาท ชนิดของเส้นประสาทที่มีพยาธิสภาพจากโรคเรื้อน พบได้ 2 ชนิด คือ
          1. เส้นประสาทส่วนปลาย(Peripheral nerve) ทำให้มีอาการคล้ำได้ เส้นประสาทโต
          2. เส้นประสาทที่ผิวหนัง(Cutaneous nerve) ทำให้มีอาการชาของผิวหนังบริเวณที่มีรอยโรคซึ่งอาการทั้งสองนี้ถือเป็น Cardinal sign ของการวินิจฉัยโรคเรื้อน การทำลายเส้นประสาทส่วนปลายสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยโรคเรื้อนได้ในทุกๆช่วงของการรักษาคือ ก่อนการรักษา ระหว่างรักษา และแม้กระทั่งระยะเฝ้าระวัง เมื่อผู้ป่วยมีการทำลายของเส้นประสาทส่วนปลายไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยยังไม่หายจากโรคเรื้อน เนื่องจากสาเหตุหลักของการทำลายเส้นประสาทมาจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคเรื้อน




ภาพประกอบ 1 เส้นประสาทที่อาจถูกทำลายในผู้ป่วยโรคเรื้อน





ตารางที่ 1 เส้นประสาทที่ถูกทำลาย แยกตามอวัยวะ, ชนิดเส้นประสาท, ชื่อเส้นประสาท, การสูญเสียหน้าที่, Disability-Deformity ที่พบ


วัตถุประสงค์การดูแลผู้ป่วยทางกายภาพบำบัด
          1. เพื่อป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นใหม่
          2. เพื่อลดความพิการให้กลับคืนสู่สภาพปกติ หรือไม่ให้เกิดความพิการเพิ่มมากขึ้นและที่สำคัญต้องให้ผู้ป่วยสามารถนำกลวิธีต่างๆกลับไปปฏิบัติด้วยตนเองที่บ้านได้


วิธีการดูแลผู้ป่วยทางกายภาพบำบัด
          1. ให้สุขศึกษา สอนให้ผู้ป่วยรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคเรื้อน และสิ่งต่างๆที่อาจตามมา เช่น
          - ภาวะแทรกซ้อนและความพิการต่างๆที่อาจเกิดกับผู้ป่วย
          - ภาวะแทรกซ้อนและความพิการต่างๆสามารถป้องกันได้
          - วิธีการการดูแลมือ เท้า และตาที่ชาและสูญเสียความรู้สึก
          2. รักษาและช่วยเหลือ ผู้ป่วยเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการรักษา เพราะงานการรักษาจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือและผู้ป่วยต้องนำไปปฏิบัติตามคำแนะนำได้ ดังนี้
          - การดูแลสภาพผิวหนัง มือ และเท้า โดยสอนให้ผู้ป่วยรู้วิธีการดูแลมือ เท้าโดยการแช่เท้าในน้ำ ขัดถูหนังแข็ง และการนวดน้ำมัน
          - การดูแลข้อต่อของมือและเท้า เพื่อให้ข้อต่อเหยียด เคลื่อนไหวได้ไม่มีการยึดติดของข้อต่อ โดยการสอนวิธีการบริหารข้อต่อของมือและเท้า
          - การดูแลให้กล้ามเนื้อมีกำลังแข็งแรงขึ้น โดยสอนวิธีการออกกำลังกล้ามเนื้อ มือ เท้า และตา เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
          - การให้คำแนะนำ และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้กับผู้ป่วย เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเท้าชา สูญเสียความรู้สึก แว่นตาสำหรับผู้ป่วยกระจกตาชาหรือตาหลับไม่สนิท เป็นต้น


ขั้นตอนการดูแลมือเท้าที่สูญเสียความรู้สึก
          เพื่อรักษาสภาพผิวหนังให้อยู่ในสภาพที่ดี คือผิวหนังอ่อนนุ่มไม่แห้งหรือแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกออกของผิวหนังและเป็นแผลในที่สุด
          1. ตรวจดูและคลำที่ฝ่ามือ
          - เพื่อดูว่าหลังการทำงานมีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่
          - เพื่อดูว่ามีอาการปวด บวมแดงร้อนที่มือ และเท้าหรือไม่
          - เพื่อดูว่ามีหนังหนา/แข็ง ที่อาจเป็นอันตรายต่อมือเท้าได้
          2. แช่น้ำนาน 15-20 นาที (แล้วแต่สภาพผิวหนัง) เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ง่ายต่อการขัดถูหนังแข็ง
          3. ขูดหรือขัด หลังจากแช่น้ำจนผิวหนังอ่อนนิ่มแล้ว ให้ใช้หินขัด เอาหนังหนาออก
          4. นวดน้ำมัน เพื่อเคลือบผิวไม้ให้น้ำระเหยออกไป ทำให้ผิวชุ่มชื้นและอ่อนนิ่ม
          5. นวดออกกำลัง มือและเท้า เพื่อคงสภาพความยืดหยุ่นของผิวหนัง กล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆไว้ให้เหมือนปกติ
          6. อุปกรณ์ป้องกัน เช่นรองเท้าพื้นนิ่มในรายที่สูญเสียความรู้สึก ใช้ถุงมือผ้าหยิบจับเวลาหุงอาหาร หรือเวลาออกแบบดัดแปลงอุปกรณ์ต่างๆให้ผู้ป่วยใช้ในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยเป็นต้น


ของใช้ที่จำเป็นในการดูแลตนเอง (self care)


1. กระจก
2. อ่างน้ำหรือถัง
3. หินขัดหรือแปรง
4. สบู่
5. น้ำมันหรือวาสลีน


การดูแลมือ



การออกกำลังกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ



การดูแลเท้า


กรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเส้นประสาทอักเสบ (Nerve neuritis)

                    - Rest nerve
                    - Strengthening exercise

เส้นประสาท ulnar n.

เส้นประสาท common peroneal n.
                 

การตัดรองเท้าสปริงค์ชูป้องกันเท้าตกในกรณี กล้ามเนื้ออ่อนแรง



เทคนิคการออกกำลังกล้ามเนื้อมือ และเท้า
          จากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อนมา 15 ปี พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ป่วยคือ การเกิดแผลใต้ฝ่าเท้า ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึก ดังแสดงในแผนภาพ

          จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกและ Intrinsic muscle weakness เป็นสาเหตุทำให้เวลาเดิน รองเท้ามักจะหลุดออกเสมอทำให้ผู้ป่วยต้อง compensated โดยการจิกนิ้วเท้าไว้กับพื้นรองเท้าตลอดเวลา ทำให้ Increase Claws toe มากขึ้น


          ดังนั้น ในเรื่องของการดูแลเท้าไม่ให้เกิดแผล จึงต้องเน้นในเรื่องของการป้องกันการเกิด หนังแข็ง(callus) ด้วยวิธีการแช่เท้า ขัดถูหนังแข็ง และสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม นั่นคือรองเท้าควรมีสายรัดส้น(Back strap) และพื้นรองเท้าต้องมีความนุ่ม เพื่อทดแทน Intrinsic muscle ที่ wasting ไป ร่วมกับการพักเท้า โดยการลงน้ำหนักส่วนนั้นให้น้อยที่สุด หรือไม่มีการลงน้ำหนักที่ส่วนนั้นเลย และถ้าในกรณีที่เกิดแผลใต้ฝ่าเท้าแล้วจะต้องรีบแนะนำให้ผู้ป่วยรีบรักษาแผลนั้นให้หายโดยเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้แผลนั้นเป็นเรื้อรังนานๆอาจกลายเป็นแผลมะเร็งได้ในที่สุด และต้องสูญเสียอวัยวะนั้นไป ทั้งๆที่เราสามารถป้องกันได้

กรณีตัวอย่าง

แผลบริเวณหน้าเท้า (Forefoot ulceration)
           หลักการ : ออกแบบรองเท้าไม่ให้แผลมีการลงน้ำหนัก ยกกระดูก Metatarsal Head ให้ลอยขึ้น



 แผลบริเวณกลางเท้า (Mid foot ulcer)
          สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการมี protrusion ของกระดูก Talus and Navicular ในภาวะ Charcot foot ทำให้มี High pressure บริเวณดังกล่าว แต่เนื่องจากเป็นบริเวณที่ออกแบบรองเท้าค่อนข้างลำบากจึงนิยมเข้าเฝือก (Total contact casting) เพื่อ total off loading


และหลังจากผู้ป่วยรักษาแผลหายแล้วควรจะต้องสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมเป็นประจำ ดังภาพ


          ดังนั้น จะเห็นว่างานด้านกายภาพบำบัดมีบทบาทอย่างมาก ในแง่การส่งเสริมสุขภาพ การรักษา การป้องกัน รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้พิการช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้พิการด้วย

บรรณานุกรม

          กรมควบคุมโรคติดต่อ. คู่มือการป้องกันความพิการและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคเรื้อน. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร : ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2538.

          ธีระ รามสูต. เวชปฏิบัติทางโรคเรื้อน. กองโรคเรื้อน กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, 2525.

          พิมพวัลย์ บุญมงคล. "ขี้ทูต" โรคสังคมรังเกียจ : มนุษย์วิทยาการ : ตีตราของโรคเรื้อนในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย. วารสารสังคมศาสตร์การแพทย์, 2536.

          Price, J.E. "A study of Leprosy Patients with Deformities and the Implication for the Treatment of all Leprosy Patients." Leprosy Review. 5(1983) : 129-137.

          Watson, J.M. "Care of Feet with loss of felling." Essential Action to Minimise Disability in Leprosy Patient. 1988 : 21-24.

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สะท้อนแนวคิด "วิชาชีพกายภาพบำบัดในฝัน"



สะท้อนแนวคิด "วิชาชีพกายภาพบำบัดในฝัน"


สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย


จากการประชุมคณะกรรมการ สนกท. ครั้งที่ 4/2553 วันที่ 24 ตุลาคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ นายกิจชนะ แก้วแก่น นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ให้คณะกรรมการกลางและคณะกรรมการ สนกท. ประจำสถาบันในแต่ละสถาบันช่วยกันวาดภาพภายใต้แนวคิด วิชาชีพกายภาพบำบัดในฝัน เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองวิชาชีพกายภาพบำบัดภายใต้บทบาทของนิสิตนักศึกษา ซึ่งในแต่ละสถาบันที่เข้าร่วมประชุมได้สะท้อนความคิด ดังนี้




มหาวิทยาลัยมหิดล



          แนวคิด : เป็นวิชาชีพที่มีให้เหมือนน้ำเปล่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ใส สะอาด และให้อย่างบริสุทธิ์ใจ



          แนวคิด : ทุกสถาบันคล้องใจเป็นหนึ่งเดียวกัน


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



          แนวคิด : - PT แทน วิชาชีพ
                   - สีเหลือง แทน ความรู้และประสบการณ์
                   - สีเขียว แทน น้ำใจช่วยเหลือ
                   - สีฟ้า แทน ความสามัคคี
                   - สีแดง แทน ความมุ่งมั่นในวิชาชีพ



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




          แนวคิด : อยากให้ PT ทำการรักษาด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าคนไข้มาหาเราแล้วเราก็ทำแค่ hot pack กับ US เค้าอาจจะหายรู้สึกดีในช่วงระยะหนึ่ง แต่ถามว่าอาการที่แท้จริงหายไหม เค้าไม่หาย หรือเปรียบได้กับปวดให้ยาพาราให้ยาหม่อง แล้วแบบนี้เค้าจะมาหาเราทำไม ซื้อยากินเองก็ได้



มหาวิทยาลัยพะเยา




          แนวคิด : รูปนี้ดูดีๆมันเป็นสีขาว มันว่างเปล่า มันไม่มีอะไร พวกเราอยากให้ทุกคนใน PT คิดว่าตัวเองเป็นสีขาว เพราะสีขาวเนี่ย ! มันเติมสีอะไรก็ได้สีนั้น ก็เหมือนเราทำโดยไม่หวังสิ่งใดๆตอบแทน แต่ตัวเองกลับไม่เป็นสีขาว



มหาวิทยาลัยรังสิต




          แนวคิด : นักกายภาพบำบัดควรใช้ความรู้และทักษะในการช่วยเหลือประคับประคองผู้ป่วยให้หายจากอาการป่วยได้ และนักกายภาพบำบัดแต่ละคนควรมีความสามัคคีกัน เพื่อให้วิชาชีพกายภาพบำบัดมีความมั่นคงและก้าวหน้าต่อไปได้



มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ




          แนวคิด : นักกายภาพบำบัดเป็นเหมือนโดราเอมอนที่ทำได้ทุกอย่าง



มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




          แนวคิด : วิชาชีพกายภาพบำบัดเหมือนต้นกล้าที่จะเปลี่ยนเป็นต้นไม้ที่มีราก คอยค้ำจุนสังคมไทยให้ดำเนินต่อไป



มหาวิทยาลัยหัวฉียวเฉลิมพระเกียรติ




          แนวคิด : มังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศจีน ซึ่งคนจีนสร้างมังกรขึ้นจากสัตว์หลากหลายชนิดรวมกันเป็นมังกร ก็เปรียบเสมือนเด็กกายภาพบำบัดซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศไทย กระจายอยู่ทั่วทุกทิศทุกทางของประเทศ ถ้าเรารวมพลังกันก็จะเกิดเป็นความยิ่งใหญ่ เหมือนกับมังกรที่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์


มหาวิทยาลัยคริสเตียน




แนวคิด : แสงอาทิตย์เปรียบเสมือนนักกายภาพบำบัดที่ส่องแสงคอยช่วยเหลือบำบัดทุกข์ให้กับคนไข้ทุกระดับ ซึ่งเปรียบได้กับต้นไม้ แม่น้ำ สัตว์ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน



จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




แนวคิด : PT คือ ยอดมนุษย์ ฉันทำได้ทุกอย่าง



มหาวิทยาลัยนเรศวร




แนวคิด : วิชาชีพกายภาพบำบัดเปรียบเสมือนตึกสูงที่มีความมั่นคง ประตูหน้าต่างมากมายเปรียบเสมือนบุคลากรและงานมากมายที่เราต้องทำเพื่อประชาชน ตึกจะเสร็จสมบูรณ์ได้และมีความมั่นคงได้ก็ขึ้นอยู่กับประตูหน้าต่าง ( บุคลกรร่วมกันทำงานจะทำให้เกิดความมั่นคงอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลออกไปสู่ชุมชนชนบทให้มีความมั่นคงตามไปด้วย )



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์




แนวคิด :น้ำ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามภาชนะที่ใส่ เปรียบเสมือนนักกายภาพบำบัดที่ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะทำงานในชุมชนหรือโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าต้องเจอกับอะไร ก็สามารถจะเข้าใจและยอมรับในสิ่งนั้นๆได้


 
 

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ปณิธานกายภาพบำบัดเพื่อประชาชน

นศก.กิจชนะ แก้วแก่น
นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ปี 2553


" .....พวกเราในนาม Physical Therapy จะใช้ทั้งกายและใจ
ร่วมกันรักษาด้วยความตั้งใจและยึดตามหลักปณิธาน
พวกเราในนามกายภาพบำบัดจะขอเป็นกำลังต่อไป
ให้คนได้รู้ติดตรึงชื่อไว้ด้วยใจ...กายภาพบำบัด..... "

เป็นบทเพลงที่พี่น้องชาวกายภาพบำบัดทุกสถาบันได้พร้อมใจกันร้องดังขับขานในงานกายภาพบำบัดสัมพันธ์ ครั้งที่ 20 วันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมาซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ กายภาพบำบัดสัมพันธ์ (เดิมชื่อว่างาน ศกท.สัมพันธ์) เป็นงานที่จัดขึ้นโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย (สนกท.) เวียนกันเป็นเจ้าภาพทุกปีในแต่ละสถาบัน วัตถุประสงค์เพื่อให้พี่น้องชาวกายภาพบำบัดทุกสถาบันได้มีโอกาสทำความรู้จักกัน สานสัมพันธ์น้องพี่ชาวกายภาพบำบัดให้แนบแน่น พร้อมใจเป็นหนึ่งเดียวกัน สำหรับงานในปีนี้ได้มีกิจกรรมเด่นของงานอยู่ที่การตั้งมั่นปณิธานกายภาพบำบัดเพื่อประชาชน ปณิธาน คือ ความตั้งใจจริงที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ การตั้งปณิธานของพี่น้องชาวกายภาพบำบัดทั่วประเทศจึงเป็นเหมือนดวงดาวบนฟากฟ้าที่พร้อมใจกันไขว่ขว้ามาให้ได้ด้วยการชำระปณิธานภายใต้กระบวนการสรรสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อมวลประชา

พวกเราจะเผยแพร่ความรู้ทางกายภาพบำบัดให้เข้าถึงประชาชน

เสียงกล่าวปณิธานที่พร้อมกันของพี่น้องชาวกายภาพบำบัดทั่วประเทศดังกึกก้องไปทั่วโรงยิมของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒด้วยความแน่วแน่ในความมุ่งมั่น เป็นการแสดงออกถึงศักยภาพที่ทุกคนจะได้พร้อมใจกันและร่วมกันชำระปณิธานดังกล่าว จากภาพบรรยากาศของการร้องเพลงกายภาพบำบัดสัมพันธ์ที่ดังไปทั่วห้องหัวใจของพี่น้องกายภาพบำบัดจนน่าขนลุก บ่งบอกถึงสัญญาณที่ดีว่าพวกเราทุกคนสามารถบรรลุปณิธานที่ตั้งไว้ได้ด้วยความรัก ความสามัคคี และทำด้วยใจบริสุทธิ์ที่มิหวังผลตอบแทน โดยหวังแต่เพียงให้เห็นรอยยิ้มที่สดใสในสุขภาพที่แข็งแรงของประชาชนคนไทยที่เป็นที่รักทุกคน



วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สนกท.ในฝัน


สนกท.ในฝัน

นศก.วรพรรณ ปัญญาเวชกุล
 นักศึกษากายภาพบำบัด ชั้นปีที่ 4
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

                    เมื่อเราก้าวเข้าสู่มหาวิทยาลัย นั่นคือเราก้าวเข้าสู่บันไดของการศึกษาที่จะนำไปสู่ประตูแห่งการทำงานจริงตามที่นักศึกษาผู้นั้นใฝ่ฝัน แต่ก่อนที่เราจะเข้าสู่ชีวิตการทำงาน นอกจากความรู้ที่เราพึงมีแล้ว การทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้วิธีการทำงาน การเรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคม กลับเป็นส่วนสำคัญยิ่ง ที่จะนำพาให้ชีวิตของนักศึกษาผู้นั้นไปสู่ความสำเร็จหลังจบการศึกษาได้

                    คณะกายภาพบำบัด ซึ่งก่อกำเนิดมาเพื่อให้นักศึกษาผู้แสวงหาหนทางแห่งความรู้ ที่มีจิตวิญญาณเสียสละแก่เพื่อนมนุษย์ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2508 โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เฟื่อง สัตว์สงวน และได้ให้ชื่อว่า โรงเรียนกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นสถาบันแห่งแรกที่ผลิตบัณฑิตกายภาพบำบัด จากจุดเริ่มต้นเล็กๆนั้น กลายเป็นรากฐานการเรียนรู้ของสาขาวิชากายภาพบำบัดเป็นต้นมา ทำให้ความรู้ทางกายภาพบำบัดได้แพร่กระจายออกไปอย่างกว้างขวาง และเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ให้การรักษาตามระบบสุขภาพที่มีคุณภาพในที่สุด

                    การเป็นนักกายภาพบำบัดที่ดี นอกจากการมีความรู้ที่ชัดเจน ก็ควรมีการจัดระบบการวางแผนการทำงานที่ดีด้วย ซึ่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนและการทำกิจกรรมนั้นเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งกับนักศึกษากายภาพบำบัด ซึ่งนั่นหมายความว่า การรวมกลุ่มของชาวกายภาพบำบัดนั้น ก่อให้เกิดประโยชน์และคุณค่าอย่างมากมาย นำไปสู่การรวมกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด
                   
                    กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด  มีจุดประสงค์การจัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นองค์กรที่แบ่งปันความรู้และเป็นช่องทางการสื่อสารกับสมาชิกนักศึกษากายภาพบำบัดไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสมาชิกจะต้องมีบทบาทและหน้าที่ในกลุ่ม ทั้งยังเป็นศูนย์กลางการกระจายข่าวสารวิทยาการใหม่ๆที่มีมาตรฐานระดับชาติ ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ การติดต่อสื่อสารภายในระหว่างสมาชิก และทำให้การสื่อสารระหว่างวิชาชีพของนักกายภาพบำบัดในประเทศไทยกับองค์กรอื่นๆนั้นมีประสิทธิภาพและช่วยส่งเสริมงานวิจัยทางกายภาพบำบัดให้มีมาตรฐานยิ่งๆขึ้นไป

                    กลยุทธ์สำหรับการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ควรตั้งอยู่บนแนวทางเดียวกัน อันได้แก่ ส่วนของสมาชิก ที่ควรได้รับข่าวสารทั้งทางวิชาการและวิชาชีพที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ และรวมกลุ่มจัดกิจกรรมที่มีความสนใจในด้านเดียวกัน ส่วนของการจัดการภายใน ควรมีการพัฒนาระบบการบริหาร การใช้เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของวารสารของกลุ่ม ส่วนของการเรียนรู้และการพัฒนา ควรพัฒนาทั้งตัวบุคคลและสื่อการเรียนรู้ของชาวกายภาพบำบัดที่เน้นภาษาไทยแต่มีความก้าวล้ำนำสมัย ส่วนสุดท้าย คือ การเงิน ผู้ที่เข้ามาดูแลนั้นควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมโดยปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน

                    การมีส่วนร่วมกันในการทำกิจกรรมกลุ่มนั้นเรายึดถือแนวความคิดที่ว่า การแก้ปัญหา จะต้องแก้จากจุดเริ่มต้น ทำให้นักกายภาพบำบัด สามารถเข้าถึงปัญหาของผู้ป่วยได้ 4 ช่องทาง ได้แก่ การส่งเสริม การป้องกัน การรักษาและการฟื้นฟู ซึ่งหลักสำคัญดังกล่าว คือ เนื้อแท้ของชาวเรา ที่จะทำให้เราทุกคนนั้นเป็นนักกายภาพบำบัดอย่างเต็มภาคภูมิ ดังนั้นพวกเรา ชาวกายภาพบำบัด จึงไม่อาจละเลยข้อใดได้แม้เพียงข้อเดียว

                    แต่ในปัจจุบัน แผนกกายภาพบำบัด ได้ตกอยู่ภายใต้การทำงานที่ซับซ้อนของระบบการทำงานโรงพยาบาล โดยขึ้นกับแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู ดังที่ทราบกัน คือ เน้นการฟื้นฟูหลังการเป็นโรคแล้วเป็นส่วนหลัก แต่กายภาพบำบัดที่แท้จริงนั้น เราต้องส่งเสริม ปกป้องและดูแลสุขภาพของประชาชนก่อนที่จะเป็นโรคต่างๆ หากผู้ป่วยมีภาวะของโรคแล้ว เราจึงทำการรักษาและฟื้นฟูภายหลัง

                    จากแนวความคิด แสดงให้เห็นความแตกต่างของเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดอย่างเด่นชัด ด้วยเหตุนี้ การกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด ควรมีส่วนในการกระจายข้อมูลที่เกี่ยวข้องนี้ให้ทั่วถึง ให้นักศึกษากายภาพบำบัดทุกๆคนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของชาวกายภาพที่จะได้เข้าสู่การดูแลประชาชนให้ทั่วถึงอย่างแท้จริง

                    กลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัด ถือได้ว่าเป็นตัวแทนของนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ที่จะส่งเสริมคุณค่าของความเป็นนักกายภาพบำบัดในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการส่งเสริมความรู้ ด้านการส่งกิจกรรมกลุ่มและสังคม ด้านการพัฒนาคุณภาพของเทคโนโลยี และสุดท้าย คือ การยกระดับมาตรฐานและคุณภาพการบริการทางกายภาพบำบัดสู่ประชาชน  อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติอย่างแท้จริง

สนกท.ในฝัน

สนกท.ในฝัน

นศก.อมรเทพ จันทร์แก้ว
นักศึกษากายภาพบำบัด ชั้นปีที่ 1
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
                   


                    พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในความจริงนั้นคนเราทุกคนเมื่อมีเกิด ย่อมมีแก่ เจ็บ และตายในที่สุด เป็นวัฏจักรของชีวิตเรา ไม่มีใครสามารถจะล่วงพ้นไปได้ แม้แต่พุทธองค์ การที่เราได้เกิดมาในบนโลกนี้เพียงครั้งหนึ่งเราควรทำให้ชีวิตของเราดำรงอยู่อย่างยืนยาวพยายามที่จะหลีกหนี ป้องกันจากโรคภัยที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลเสียต่อสุขภาพเราและอาจถึงแก่ชีวิตได้โดยเร็วแต่เมื่อมีคนรู้วิธีการรักษาป้องกันโรคภัยนั้น ก็อาจจะเป็นการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้ การที่เกิดโรคภัยขึ้นก็เสมือนเป็นการประลองความคิดในการคิดค้นวิธีการป้องกันโรคภัยนั้นของผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขไม่ว่าเป็น แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสาธารณสุขด้านต่างๆ ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้กลับมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะเมื่อคนเราได้อันตรายอันเป็นเหตุให้เกิดโรคภัย อุบัติเหตุ เสื่อมเสียความบกพร่องของร่างกายและจิตใจ สิ่งหนึ่งที่สามารถจะช่วยเหลือให้เขากลับมามีชีวิตที่ดีขึ้นนอกเหนือจากการรักษาโดยวิธีการใช้ยาคือการทำกายภาพบำบัด

 
                    กายภาพบำบัด คือ การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัยและการบำบัดความบกพร่องของร่างกายซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การแก้ไขและฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการของร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งได้แก่ การดัด การดึง การประคบ การนวด การบริหารร่างกาย หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกระทำด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าวตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือการกระทำอื่นที่รัฐมนตรีประกาศเป็นวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศเป็นเครื่องมือกายภาพบำบัด ซึ่งผู้ที่จะสามารถทำกายภาพบำบัดได้นั้นจะต้องได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ มีความรักในอาชีพที่จะประกอบ ตามหลักที่ว่า “สองมือ หนึ่งสมอง ประคองชีวิต” หมายถึงการใช้สองมือ และใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย  ในปัจจุบันการรักษาด้วยกายภาพบำบัดได้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือโรงพยาบาลภายในประเทศไทยของเรา ก็ได้มีการรวมกลุ่มก่อตั้งเพื่อส่งเสริมเรียนรู้เผยแพร่ในด้านกายภาพบำบัด ดังเช่น  สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความรู้ความสามารถด้านกายภาพบำบัด ในความใฝ่ฝันที่สังคมอยากเห็นการทำงานของสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย คือ การทำงานที่มุ่งเน้นหลักการอยู่ ๔ ประการ คือ “สืบสาน ส่งเสริม สร้างสรรค์  สู่ชน”  ประการแรกคือ สืบสาน หมายถึงการที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดจะต้องสืบสานงานกายภาพบำบัดที่เป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมแน่วแน่ในการสืบสานปณิธานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยสืบต่อไป  ประการที่สอง ส่งเสริม หมายความว่า จะต้องเป็นสหพันธ์ที่ส่งเสริมการคิดค้นวิจัย คิดค้นกิจกรรมด้านกายภาพบำบัด เช่น ส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมการทำกายบำบัดของผู้ป่วย ประการที่สาม คือ สร้างสรรค์ หมายถึง การเป็นสหพันธ์ที่สามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้ ความสามารถ ในการคิดค้นผลงาน สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างประโยชน์ในทางกายภาพบำบัดเพื่อช่วยในการรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ  ประการที่สี่ คือ สู่ชน หมายถึง เป็นสหพันธ์ที่เข้าถึง      ปวงชนอย่างแท้จริง ช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะเหลือช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถของตน เพื่อพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นและหายขาดจากโรคภัย  ซึ่งทั้งสี่ประการที่กล่าวมา สามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยและการเป็นนักกายภาพบำบัดที่สมบูรณ์เพียบพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม เห็นแก่ประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นอันดับหนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นอันดับสอง ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย ที่กล่าวไว้ว่า “ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นหมอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สองประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

                    ดังนั้นความต้องการของสังคม ของประชาชน คือการปรารถนาที่จะไม่มีโรคภัย แต่หากจะข้ามพ้นจากโรคภัยนั้นได้จำเป็นต้องพึ่งพาจากความรู้ความสามารถของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขรวมถึงนักกายภาพบำบัด ที่จะสามารถช่วยเหลือให้พ้นจากโรคภัยได้ผ่อนความเจ็บปวดให้ทุเลาลงได้ แต่ความเป็นนักกายภาพบำบัดที่ดี จะต้องมีความรักความสามัคคีสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ดังเช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ที่จะสามารถทำงานได้ดีตามความต้องการของประชาชน ของสังคม คือ สามารถสืบสานความรู้ ส่งเสริมความสามรถ สร้างสรรค์ผลงาน และเข้าถึงสู่ประชาชน มุ่งทำประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน คิดถึงผู้อื่นเป็นหลักในการทำงาน เพียงเท่านี้ก็เชื่อว่าจะเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดที่เพียบพร้อมความรู้ สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม ก้าวนำสู่ความเป็นเลิศในด้านกายภาพบำบัดสากลต่อไป