วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิจัย สนกท. : การศึกษาความพึงพอใจของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย

นศก.กิจชนะ   แก้วแก่น
นักศึกษากายภาพบำบัดชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และนายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ปี 2553
ultranawin@hotmail.com

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย

ผู้เข้าร่วมการวิจัย : นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดทั้ง 15 สถาบัน

วิธีการวิจัย : นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดชั้นปีที่ 1 2 และ 3 ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 362 คน จะได้รับการสอบถามความคิดเห็นโดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารงานของสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ปี 2553 ที่จัดทำขึ้น มีประธาน สนกท.ประจำสถาบันแต่ละสถาบันรับผิดชอบเก็บแบบสอบถามในสถาบันตนเองเพื่อนำกรอกข้อมูลในโปรแกรมที่กำหนด แล้วส่งกลับมาให้ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ผล : ตอนที่ 1 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติพรรณนาใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) และร้อยละ (Percentage) ตอนที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย โดยใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) และทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานในแต่ละด้านจำแนกตาม ได้แก่ ชั้นปีที่กำลังศึกษา และการเข้าร่วมงานกายภาพบำบัดสัมพันธ์ โดยใช้สถิติไควสแควร์ ตอนที่ 3 วิเคราะห์ข้อมูลข้อเสนอแนะจากคำถามปลายเปิดโดยการจัดทำหมวดหมู่ข้อมูล (Categorizations) และนับจำนวน (Counting) ของคำตอบในแต่ละหมวดหมู่

ผลการศึกษา : ความพึงพอใจของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยด้านต่างๆ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และพบว่าความพึงพอใจในด้านต่างๆของการบริหารงานที่มีความสัมพันธ์กับการจำแนกตามการเข้าร่วมงานกายภาพบำบัดสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) คือ ด้านการพัฒนาการสื่อสารระหว่างสมาชิก ด้านการสร้างความสัมพันธ์สมาชิกระหว่างสถาบัน ด้านการส่งเสริมความร่วมมือจากสมาชิกในการพัฒนา สนกท. ด้านการพัฒนาเครือข่าย สนกท.ประจำสถาบัน ด้านการส่งเสริมความร่วมมือในการทำงานกับนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดนานาชาติ และด้านการส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับนิสิตนักศึกษาสาขาอื่น

คำสำคัญ : สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย การบริหารงาน ความพึงพอใจ

แหล่งทุน : สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย



นายกิจชนะ นายกหพันธ์ฯ ปี 2553 ได้เข้าร่วม oral presentation งานวิจัยของ สนกท. ในงานการประชุมวิชาการกายภาพบำบัดแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การขี่ม้าบำบัดในกายภาพบำบัดเด็ก

Hippotherapy in Pediatrics Physical Therapy

ร.ศ. กรกฏ   เห็นแสงวิไล
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          Hippotherapy เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า hippos (horse) + therapeir (treatment), horse treatment, horseback riding therapy (HBRT), therapeutic horseback riding (T.H.R.), equine-assised therapy ซึ่งล้วนหมายถึง การรักษาด้วยการขี่หลังม้า ขี่ม้าบำบัด หรืออาชาบำบัด การขี่ม้าบำบัด ( hippotherapy , riding therapy ) เป็นอีกวิธีการรักษาหนึ่งที่มีรายงานว่า เป็นประโยชนืทั้งทางด้านร่างกาย เช่น การทรงท่า การทรงตัว การเคลื่อนไหว และทางด้านจิตใจ ทำให้เด็กมีความสุข มีความมั่นใจในตนเอง กล้าที่จะเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
          งานกายภาพบำบัดในเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวสามารถใช้ hippotherapy เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการรักษาเด็กเนื่องจากกลไกการเดินของม้ามีลักษณะการเคลื่อนไหวเป็น 3 มิติ คล้ายคลึงกับแบบแผนการเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กนั่งบนหลังม้าจะต้องพยายามรักษาการทรงตัวบนหลังม้า ขณะที่ม้าเดินจะมีการเคลื่อนไหวที่ส่งไปให้ร่างกายของเด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวถ่ายเทน้ำหนัก มีกลไกการตอบสนองของปฏิกิริยาการตั้งตัวตรง และรักษาสมดุล (righting reaction and equlibrium reaction) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจังหวะการเดินของม้า ดังนั้น การให้เด็กได้นั่งบนหลังม้า ทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวใกล้เคียงปกติ ลดอาการเกร็ง ร่างกายมีการทำงานสมมาตรของกล้ามเนื้อลำตัวและสะโพก ทำให้การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ดีขึ้น และมีผลต่อแบบแผนการเดินของเด็ก
         
การขี่ม้าบำบัดสามารถให้ผลดี คือ
          1. ด้านร่างกาย (Physical) ทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงปกติมากขึ้น
          2. ด้านจิตใจ (mental) ทำให้เด็กมีความสุข สนุกสนาน มีความมั่นใจในตนเอง
          3. ด้านภาษา การสื่อสาร (speech and communication) ทำให้การเปล่งเสียงดีขึ้น
          4. ด้านบุคลิกภาพทางสังคม (personal social) ทำให้เด็กกล้ามากขึ้น กระตือรือร้นที่จะเรียรรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
         
ประโยชน์ที่ได้จากการขี่ม้าเพื่อการรักษา
          1. ความมั่นใจ (confidence)
          2. ความแข็งแรง (strength)
          3. การทรงตัว (balance)
          4. การทำงานประสานกัน (co-ordination)
          5. การเคลื่อนไหว (mobility)
          6. ความสุข สนุกสนาน (pleasure)
         
ผลด้านร่างกายจากการขี่ม้าเพื่อการรักษาเด็กสมองพิการ
          1. ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ปรับให้อยู่ใกล้เคียงกับปกติ เช่น หากเด็กมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง การขี่ม้าจะช่วยลดเกร็ง เด็กที่ปวกเปียกก็จะมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากขึ้น
          2. การทำงานสมมาตร การขี่ม้าทำให้ร่างกายทำงานสมมาตร
          3. การรักษาท่าทาง ส่วนหลังจะตรงมากขึ้น แนวลำตัวดีขึ้น
          4. การรักษาสมดุล และการทรงตัว จะทำได้ง่ายและมีคุณภาพมากขึ้น
          5. การปรับเปลี่ยนท่า เด็กจะปรับเปลี่ยนท่าคล่องตัวขึ้น และถูกแบบแผนมากขึ้น ลดการเคลื่อนไหวทดแทน
          6. การเคลื่อนไหว ยืน เดิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การขี่ม้าบำบัดสามารถใช้กับผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายประเภท เช่น
          1. เด็กสมองพิการ (cerebral palsy)
          2. เด็กพัฒนาการล่าช้า (developmental delayed) เช่น ดาวน์ซินโดรม
          3. อารมณ์แปรปรวน (emotional disturbance)
          4. สมองได้รับบาดเจ็บ (head injuries)
          5. เด็กออทิสติก (autism)
          6. โรคโปลิโอ (poliomyelitis)
          7. ภาวะกระดูกสันหลังคด (scoliosis)
          8. สไปน่า ไบฟิดา (spina bifida)
          9. โรคหลอดเลือดในสมอง (stroke)

การขี่ม้าบำบัดอาจมีอันตรายกับเด็กบางประเภท จึงไม่ควรใช้กับเด็กกลุ่มอาการดังต่อไปนี้
          1. เด็กมีอาการกระตุก การชักที่ควบคุมไม่ได้
          2. เป็นไข้ มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
          3. มีประวัติกระดูกหัก ข้อเคลื่อนได้ง่าย หรือมีพิสัยการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ
          4. อารมณ์แปรปรวนรุนแรง ควบคุมได้ยาก
          5. ไม่สามารถสื่อสารได้เลย
          6. เด็กไม่สมัครใจ ปฏิเสธ มีอาการหวาดผวา

ความปลอดภัยและข้อควรสนใจ
          1. นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด สัตวแพทย์ ทหารม้า และผู้ช่วยเดินข้างตัวม้า ควรผ่านการฝึกอบรม ทั้งด้านเด็กพิเศษและการขี่ม้าเพื่อการรักษา
          2. ต้องใช้ม้าเชื่อง คุ้นเคยกับการให้เด็กขี่ ควบคุมได้
          3. ควรเลือกม้าให้เหมาะสมกับลักษณะเด็กแต่ละราย ทั้งนิสิยม้าและขนาดที่เหมาะสม
          4. หากไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เข้าไปใกล้หรอส่งเสียงดังในบริเวณที่มีม้าอยู่
          5. ควรรับคำแนะนำก่อนเข้าไปใกล้หรือสัมผัสม้า
          6. เด็กต้องผ่านการตรวจประเมิน อยู่ในเงื่อนไขที่เหมาะสม และตั้งเป้าหมายในการรักษา
          7. การเคลื่อนย้ายเด็กที่มีความจำกัดในการเคลื่อนไหวมาก เด็กตัวโต ต้องรู้วิธีช่วยเหลืออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการขึ้นและลงจากหลังม้า ระมัดระวังความปลอดภัยให้เด็กมากที่สุด
 รูปที่ 1 เด็กสมองพิการขี่ม้าบำบัด

 รูปที่ 2 เด็กสมองพิการนั่งกางแขนบนหลังม้า

รูปที่ 3 นักศึกษากายภาพบำบัดนั่งกับเด็กที่ไม่สามารถนั่งเองปลอดภัย

 รูปที่ 4 เด็กสมองพิการบนหลังม้า

 รูปที่ 5 เด็กสมองพิการนอนหงายบนหลังม้า

          ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ โดยความร่วมมือกับ สาขาวิชาคลินิกม้า คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มการขี่ม้าบำบัดเมื่อปี พ.ศ. 2547 และได้ทำการวิจัยเป็นกรณีศึกษาในเด็กสมองพิการ จำนวน 2 ราย ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการขี่ม้าบำบัดติดต่อกัน 8 สัปดาห์ๆละ 2 ครั้งๆละ 30 นาที ผลการศึกษาพบว่า เด็กสามารถทรงตัวในท่านั่ง และท่ายืนได้ระยะเวลานานขึ้น มีการตอบสนองของการหายใจดีขึ้น โดยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการหายใจ และความยืดหยุ่นของทรวงอก ลดภาวะกระดูกสันหลังคด นอกจากนี้ มีข้อสังเกตและรายงานจากมารดาของเด็กว่า เด็กมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ลำตัวตรงมากขึ้น เด็กที่เคยกลัวขนทุกชนิดก็หายกลัว กอดม้า เด็กที่ตาบอดทั้งพูดไม่ได้ สามารถพัฒนาระยะเวลาการขี่ม้าได้นานขึ้น และทุกคนมีความกระตือรือร้น มีความสุข รอวันที่จะได้มาขี่ม้า เด็กจะตื่นเต้น ตื่นแต่เช้า ปลุกผู้ปกครองเพื่อพามาขี่ม้า และยังคงเฝ้ารอคอยว่าจะได้มาขี่ม้าอีก
          ปัจจุบันยังมี Hippotherapy ในเด็กพิเศษ โดยความร่วมมือสนับสนุนจากกองพันสัตว์ต่าง ค่ายตากสิน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

กายภาพบำบัดในสัตว์



ผศ.ศิริพันธุ์ คงสวัสดิ์
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



งานด้านกายภาพบำบัดในสัตว์.....จำเป็นหรือไม่

          แนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดสำหรับสัตว์มิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศออสเตรเลีย ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ ได้มีกลุ่มองค์กรนักกายภาพบำบัดที่ให้การรักษาสัตว์ (The Association of Chartered Physiotherapist in Animal Therapy) ก่อตั้งขึ้นในปี 1985 และมีหลักสูตรในระดับปริญญาโทในสาขา Veterinary Physiotherapy ที่ Royal Veterinary College, London ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา สมาคมสัตวแพทย์อเมริกัน (American Veterinary Medical Association) ได้รับรองงานด้านกายภาพบำบัดไว้ในส่วนหนึ่งของ "Guidelines for Alternative and Complimentary Veterinary Medicine" ในปี 1996 โดยนิยามความหมายของงานกายภาพบำบัดในสัตว์ว่า "การใช้เทคนิคการรักษาแบบ noninvasive ในการให้การรักษาการบาดเจ็บของสัตว์ ซึ่งประกอบด้วยการออกกำลังกายเพื่อการรักษาฟื้นฟู การใช้เครื่องเลเซอร์ชนิดกำลังต่ำ (low-level lasers) การใช้คลื่น magnetic และ ultrasound และต้องกระทำโดยสัตวแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมหรือขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยไม่หมายรวมถึงการรักษาด้วยวิธี chiropractic
          โปรแกรมการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดในสัตว์นิยมในม้าและสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว มากที่สุด เนื่องจากม้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งมักประสบปัญหาการบาดเจ็บของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ส่วนสัตว์ในบ้าน โดยเฉพาะสุนัขและแมว เปรียบเสมือนเพื่อนของมนุษย์ เจ้าของมักให้ความรัก และยินดีให้การรักษาเมื่อมีการเจ็บป่วยหรือแม้มีความพิการ จึงเป็นที่มาของบทบาทของงานกายภาพบำบัดในวงการสัตวแพทย์
          ระบบการรับส่งผู้ป่วยมารับการรักษาทางกายภาพบำบัด มีลักษณะเช่นเดียวกับในมนุษย์นั่นคือ ระบบการส่งต่อ ( referral system ) หรือการส่งปรึกษา ( consultation ) โดยแพทย์หรือสัตวแพทย์ เมื่อเห็นควรว่าปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วยสมควรได้รับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด จึงเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม และสำหรับสัตว์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาไม่น้อยไปกว่าสัตวแพทย์ คือ เจ้าของ เนื่องจากสัตว์ไม่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ด้วยภาษาหรือการบอกกล่าวแต่อาศัยการแสดงพฤติกรรม ซึ่งจัดเป็นภาษากาย ( nonverbal communication ) และเจ้าของผู้คุ้นเคยย่อมสามารถสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงได้เข้าใจมากที่สุด รวมทั้งใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากกว่าผู้รักษา เจ้าของจึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในการรักษษฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด

ปัญหาที่พบได้บ่อยในการรักษาทางกายภาพบำบัด

          ตัวอย่างปัญหาในม้าและสุนัขที่พบได้บ่อยในการส่งต่อมารับการรักษาทางกายภาพบำบัด ได้แก่
          - ภายหลังการผ่าตัดทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ และระบบประสาท ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม anterior cruciate ligament การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงหรือจัดกระดูกสันหลัง เป็นต้น
          - ม้าที่มีปัญหาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งมาจากการวางตำแหน่งของอานม้าไม่ถูกที่ การนั่งของผู้ขี่ที่ไม่สมดุลย์ ทำให้กล้ามเนื้อด้านใดด้านหนึ่งทำงานมากเกินไป ปัญหาทางโครงสร้างของขา เป็นต้น
          - สุนัขที่มีปัญหาข้อเสื่อม (degenerative joint disease) โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับภาวะอ้วน หรือลักษณะการดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว (sedentary lifestyle)
          - ม้าแข่งที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เช่นเดียวกับในมนุษย์ กีฬาประเภทที่ต้องอาศัยความเร็วเพื่อการแข่งขัน รวมถึงกีฬาที่อาศัยทักษะ การมีนักกายภาพบำบัดประจำทีมที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของนักกีฬาได้

เหตุผลที่สัตว์ควรได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัด

          ประโยชน์ที่สัตว์จะได้รับจากการรักษาทางกายภาพบำบัด เป็นเหตุผลเช่นเดียวกับมนุษย์ ได้แก่
          - ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัว (recovery) จากความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ
          - ช่วยลดความพิการ หรือความด้อยประสิทธิภาพในการใช้งาน อันเนื่องจากพยาธิสภาพหรือภาวะการเสื่อมตามอายุ (degenerative conditions)
          - ช่วยแก้ปัญหาทางระบบโครงร่างและกล้มเนื้อในกรณีที่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางชีวกลศาสตร์
          - ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขัน

วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดที่ใช้ในสัตว์เลี้ยง

          วิธีการทางกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข ประกอบด้วย วิธีการหลักๆคือ
          การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา (Therapeutic exercise) อาจแบ่งได้เป็น
          การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง (strengthening exercise) เนื่องจากปัญหาเรื่องการสื่อสาร การออกกำลังกายแบบ therapeutic exercise ไม่สามารถสั่งการให้สัตว์ออกกำลังกายแต่ละมัดกล้ามเนื้อได้ จึงใช้การฝึกในรูปแบบของ functional training ตัวอย่างเช่น assisted standing exercise (รูปที่ 1 ) ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยฝึกยืนรูปแบบต่างๆ เช่น harness สำหรับขาหน้า ขาหลัง ลำตัว, สายพยุงขาหลัง (bottoms up leash), mobility brace รวมถึงล้อเข็นสำหรับสุนัข (cart และ wheelchair) แต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก



รูปที่ 1 การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง(harness) สำหรับขาหน้า และขาหลัง เพื่อฝึกลงน้ำหนักกล้ามเนื้อขา (ภาพจาก http://www.handicappedpets.com/)

          นอกจากนั้นวิธีการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาที่เหมาะสมใช้กับสัตว์ คือ การกระตุ้นผ่านการรับรู้ของข้อต่อ (proprioception) (รูปที่ 2) ซึ่งสามารถใช้ฝึกเพื่อเพิ่มทักษะการทรงตัวได้ด้วย

 
รูปที่ 2 การกระตุ้น proprioception และฝึกการทรงตัว โดยใช้ therapeutic ball (ภาพจาก www.caninerehab.com/services.htm)

          การออกกำลังกายในน้ำ (aqutic exercise) เป็นการรักษาที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประโยชน์และให้ผลการรักษาอย่างมีประสิทธภาพ โดยเฉพาะในระยะแรกภายหลังการบาดเจ็บหรือการผ่าตัดซึ่งสัตว์ยังมีอาการอักเสบหรือมีอาการเจ็บอยู่ (รูปที่ 3)

 
 รูปที่ 3 การออกกำลังกายในน้ำ
(ภาพโดย ผศ.น.สพ.ดร.กรกฏ งานวงศ์พาณิชย์)

          การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด (Physical agent modalities) ประกอบด้วย การใช้ความร้อน ความเย็นระดับตื้น(Superficial thermotherapy) การใช้เครื่องมือไฟฟ้าเพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ (electrophysical modalities) รวมทั้งการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (electrical stimulation) เพื่อรักษาอาการปวดเช่นเดียวกับเครื่องมือที่ให้ความร้อนระดับลึก รวมทั้งเพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและเส่นประสาท ในกรณีที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อ
           การรักษาด้วยหัตถบำบัด (Manual Therapy) ประกอบด้วย
                    - การช่วยเคลื่อนไหวและการยืดกล้ามเนื้อ (passive range of mation and passive stretching) ในกรณีที่สัตว์ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง หรือมีการยึดติดของข้อ
                    - การนวด (massage) การกดจุดเพื่อคลายจุดกดเจ็บ (myofasial release, trigger point release)
                    - การขยับ ดัด ดึงข้อต่อและเนื้อเยื่ออ่อน (joint/soft tissue manipulation) โดยไม่รวมการฝังเข็ม และการรักษาด้วยวิธี chiropractic

          สำหรับประสบการณ์ด้านงานกายภาพบำบัดในสัตว์ของผู้เขียน เริ่มต้นจากการ)กิบัติงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลช้าง จังหวัดลำปาง และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการให้การรักษาลูกช้างบาดเจ็บไขสันหลัง ทำให้เกิดอัมพาตของขาหลัง ซึ่งได้รับการคัดเลือกไปนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ในงานประชุม World Congress for Neurorehabilitation ที่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2549 (รูปที่ 4) จนถึงปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานร่วมกับคณะสัตวแพทย์ ในการวิจัย การเป็นวิทยากร และให้การรักษาทางกายภาพบำบัดแก่สัตว์ โดยเฉพาะสุนัข ผู้สนใจสามารถติอต่อได้ที่ ผศ.ศิริพันธุ์ และ กภ.ญ.บุษบา ฉั่วตระกูล ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ E-mail: asphi004@chiangmai.ac.th, c_busaba@chiangmail.ac.th


รูปที่ 4 การฟื้นฟูลูกช้างบาดเจ็บไขสันหลัง