วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การขี่ม้าบำบัดในกายภาพบำบัดเด็ก

Hippotherapy in Pediatrics Physical Therapy

ร.ศ. กรกฏ   เห็นแสงวิไล
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          Hippotherapy เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า hippos (horse) + therapeir (treatment), horse treatment, horseback riding therapy (HBRT), therapeutic horseback riding (T.H.R.), equine-assised therapy ซึ่งล้วนหมายถึง การรักษาด้วยการขี่หลังม้า ขี่ม้าบำบัด หรืออาชาบำบัด การขี่ม้าบำบัด ( hippotherapy , riding therapy ) เป็นอีกวิธีการรักษาหนึ่งที่มีรายงานว่า เป็นประโยชนืทั้งทางด้านร่างกาย เช่น การทรงท่า การทรงตัว การเคลื่อนไหว และทางด้านจิตใจ ทำให้เด็กมีความสุข มีความมั่นใจในตนเอง กล้าที่จะเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
          งานกายภาพบำบัดในเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวสามารถใช้ hippotherapy เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการรักษาเด็กเนื่องจากกลไกการเดินของม้ามีลักษณะการเคลื่อนไหวเป็น 3 มิติ คล้ายคลึงกับแบบแผนการเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กนั่งบนหลังม้าจะต้องพยายามรักษาการทรงตัวบนหลังม้า ขณะที่ม้าเดินจะมีการเคลื่อนไหวที่ส่งไปให้ร่างกายของเด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวถ่ายเทน้ำหนัก มีกลไกการตอบสนองของปฏิกิริยาการตั้งตัวตรง และรักษาสมดุล (righting reaction and equlibrium reaction) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจังหวะการเดินของม้า ดังนั้น การให้เด็กได้นั่งบนหลังม้า ทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวใกล้เคียงปกติ ลดอาการเกร็ง ร่างกายมีการทำงานสมมาตรของกล้ามเนื้อลำตัวและสะโพก ทำให้การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ดีขึ้น และมีผลต่อแบบแผนการเดินของเด็ก
         
การขี่ม้าบำบัดสามารถให้ผลดี คือ
          1. ด้านร่างกาย (Physical) ทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงปกติมากขึ้น
          2. ด้านจิตใจ (mental) ทำให้เด็กมีความสุข สนุกสนาน มีความมั่นใจในตนเอง
          3. ด้านภาษา การสื่อสาร (speech and communication) ทำให้การเปล่งเสียงดีขึ้น
          4. ด้านบุคลิกภาพทางสังคม (personal social) ทำให้เด็กกล้ามากขึ้น กระตือรือร้นที่จะเรียรรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
         
ประโยชน์ที่ได้จากการขี่ม้าเพื่อการรักษา
          1. ความมั่นใจ (confidence)
          2. ความแข็งแรง (strength)
          3. การทรงตัว (balance)
          4. การทำงานประสานกัน (co-ordination)
          5. การเคลื่อนไหว (mobility)
          6. ความสุข สนุกสนาน (pleasure)
         
ผลด้านร่างกายจากการขี่ม้าเพื่อการรักษาเด็กสมองพิการ
          1. ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ปรับให้อยู่ใกล้เคียงกับปกติ เช่น หากเด็กมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง การขี่ม้าจะช่วยลดเกร็ง เด็กที่ปวกเปียกก็จะมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากขึ้น
          2. การทำงานสมมาตร การขี่ม้าทำให้ร่างกายทำงานสมมาตร
          3. การรักษาท่าทาง ส่วนหลังจะตรงมากขึ้น แนวลำตัวดีขึ้น
          4. การรักษาสมดุล และการทรงตัว จะทำได้ง่ายและมีคุณภาพมากขึ้น
          5. การปรับเปลี่ยนท่า เด็กจะปรับเปลี่ยนท่าคล่องตัวขึ้น และถูกแบบแผนมากขึ้น ลดการเคลื่อนไหวทดแทน
          6. การเคลื่อนไหว ยืน เดิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การขี่ม้าบำบัดสามารถใช้กับผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายประเภท เช่น
          1. เด็กสมองพิการ (cerebral palsy)
          2. เด็กพัฒนาการล่าช้า (developmental delayed) เช่น ดาวน์ซินโดรม
          3. อารมณ์แปรปรวน (emotional disturbance)
          4. สมองได้รับบาดเจ็บ (head injuries)
          5. เด็กออทิสติก (autism)
          6. โรคโปลิโอ (poliomyelitis)
          7. ภาวะกระดูกสันหลังคด (scoliosis)
          8. สไปน่า ไบฟิดา (spina bifida)
          9. โรคหลอดเลือดในสมอง (stroke)

การขี่ม้าบำบัดอาจมีอันตรายกับเด็กบางประเภท จึงไม่ควรใช้กับเด็กกลุ่มอาการดังต่อไปนี้
          1. เด็กมีอาการกระตุก การชักที่ควบคุมไม่ได้
          2. เป็นไข้ มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
          3. มีประวัติกระดูกหัก ข้อเคลื่อนได้ง่าย หรือมีพิสัยการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ
          4. อารมณ์แปรปรวนรุนแรง ควบคุมได้ยาก
          5. ไม่สามารถสื่อสารได้เลย
          6. เด็กไม่สมัครใจ ปฏิเสธ มีอาการหวาดผวา

ความปลอดภัยและข้อควรสนใจ
          1. นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด สัตวแพทย์ ทหารม้า และผู้ช่วยเดินข้างตัวม้า ควรผ่านการฝึกอบรม ทั้งด้านเด็กพิเศษและการขี่ม้าเพื่อการรักษา
          2. ต้องใช้ม้าเชื่อง คุ้นเคยกับการให้เด็กขี่ ควบคุมได้
          3. ควรเลือกม้าให้เหมาะสมกับลักษณะเด็กแต่ละราย ทั้งนิสิยม้าและขนาดที่เหมาะสม
          4. หากไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เข้าไปใกล้หรอส่งเสียงดังในบริเวณที่มีม้าอยู่
          5. ควรรับคำแนะนำก่อนเข้าไปใกล้หรือสัมผัสม้า
          6. เด็กต้องผ่านการตรวจประเมิน อยู่ในเงื่อนไขที่เหมาะสม และตั้งเป้าหมายในการรักษา
          7. การเคลื่อนย้ายเด็กที่มีความจำกัดในการเคลื่อนไหวมาก เด็กตัวโต ต้องรู้วิธีช่วยเหลืออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการขึ้นและลงจากหลังม้า ระมัดระวังความปลอดภัยให้เด็กมากที่สุด
 รูปที่ 1 เด็กสมองพิการขี่ม้าบำบัด

 รูปที่ 2 เด็กสมองพิการนั่งกางแขนบนหลังม้า

รูปที่ 3 นักศึกษากายภาพบำบัดนั่งกับเด็กที่ไม่สามารถนั่งเองปลอดภัย

 รูปที่ 4 เด็กสมองพิการบนหลังม้า

 รูปที่ 5 เด็กสมองพิการนอนหงายบนหลังม้า

          ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ โดยความร่วมมือกับ สาขาวิชาคลินิกม้า คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มการขี่ม้าบำบัดเมื่อปี พ.ศ. 2547 และได้ทำการวิจัยเป็นกรณีศึกษาในเด็กสมองพิการ จำนวน 2 ราย ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการขี่ม้าบำบัดติดต่อกัน 8 สัปดาห์ๆละ 2 ครั้งๆละ 30 นาที ผลการศึกษาพบว่า เด็กสามารถทรงตัวในท่านั่ง และท่ายืนได้ระยะเวลานานขึ้น มีการตอบสนองของการหายใจดีขึ้น โดยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการหายใจ และความยืดหยุ่นของทรวงอก ลดภาวะกระดูกสันหลังคด นอกจากนี้ มีข้อสังเกตและรายงานจากมารดาของเด็กว่า เด็กมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ลำตัวตรงมากขึ้น เด็กที่เคยกลัวขนทุกชนิดก็หายกลัว กอดม้า เด็กที่ตาบอดทั้งพูดไม่ได้ สามารถพัฒนาระยะเวลาการขี่ม้าได้นานขึ้น และทุกคนมีความกระตือรือร้น มีความสุข รอวันที่จะได้มาขี่ม้า เด็กจะตื่นเต้น ตื่นแต่เช้า ปลุกผู้ปกครองเพื่อพามาขี่ม้า และยังคงเฝ้ารอคอยว่าจะได้มาขี่ม้าอีก
          ปัจจุบันยังมี Hippotherapy ในเด็กพิเศษ โดยความร่วมมือสนับสนุนจากกองพันสัตว์ต่าง ค่ายตากสิน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น