วันเสาร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

วิจัย สนกท. : การศึกษาความพึงพอใจของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย

นศก.กิจชนะ   แก้วแก่น
นักศึกษากายภาพบำบัดชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยขอนแก่น
และนายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ปี 2553
ultranawin@hotmail.com

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย

ผู้เข้าร่วมการวิจัย : นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดทั้ง 15 สถาบัน

วิธีการวิจัย : นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดชั้นปีที่ 1 2 และ 3 ที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง 362 คน จะได้รับการสอบถามความคิดเห็นโดยใช้แบบสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารงานของสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ปี 2553 ที่จัดทำขึ้น มีประธาน สนกท.ประจำสถาบันแต่ละสถาบันรับผิดชอบเก็บแบบสอบถามในสถาบันตนเองเพื่อนำกรอกข้อมูลในโปรแกรมที่กำหนด แล้วส่งกลับมาให้ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูล

การวิเคราะห์ผล : ตอนที่ 1 วิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปด้วยสถิติพรรณนาใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) และร้อยละ (Percentage) ตอนที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย โดยใช้การแจกแจงความถี่ (Frequency) ร้อยละ (Percentage) และทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างระดับความพึงพอใจที่มีต่อการบริหารงานในแต่ละด้านจำแนกตาม ได้แก่ ชั้นปีที่กำลังศึกษา และการเข้าร่วมงานกายภาพบำบัดสัมพันธ์ โดยใช้สถิติไควสแควร์ ตอนที่ 3 วิเคราะห์ข้อมูลข้อเสนอแนะจากคำถามปลายเปิดโดยการจัดทำหมวดหมู่ข้อมูล (Categorizations) และนับจำนวน (Counting) ของคำตอบในแต่ละหมวดหมู่

ผลการศึกษา : ความพึงพอใจของนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดต่อการบริหารงานของคณะกรรมการบริหารงานสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยด้านต่างๆ ส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก และพบว่าความพึงพอใจในด้านต่างๆของการบริหารงานที่มีความสัมพันธ์กับการจำแนกตามการเข้าร่วมงานกายภาพบำบัดสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) คือ ด้านการพัฒนาการสื่อสารระหว่างสมาชิก ด้านการสร้างความสัมพันธ์สมาชิกระหว่างสถาบัน ด้านการส่งเสริมความร่วมมือจากสมาชิกในการพัฒนา สนกท. ด้านการพัฒนาเครือข่าย สนกท.ประจำสถาบัน ด้านการส่งเสริมความร่วมมือในการทำงานกับนิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดนานาชาติ และด้านการส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกับนิสิตนักศึกษาสาขาอื่น

คำสำคัญ : สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย การบริหารงาน ความพึงพอใจ

แหล่งทุน : สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย



นายกิจชนะ นายกหพันธ์ฯ ปี 2553 ได้เข้าร่วม oral presentation งานวิจัยของ สนกท. ในงานการประชุมวิชาการกายภาพบำบัดแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน

วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

การขี่ม้าบำบัดในกายภาพบำบัดเด็ก

Hippotherapy in Pediatrics Physical Therapy

ร.ศ. กรกฏ   เห็นแสงวิไล
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


          Hippotherapy เป็นภาษากรีกมาจากคำว่า hippos (horse) + therapeir (treatment), horse treatment, horseback riding therapy (HBRT), therapeutic horseback riding (T.H.R.), equine-assised therapy ซึ่งล้วนหมายถึง การรักษาด้วยการขี่หลังม้า ขี่ม้าบำบัด หรืออาชาบำบัด การขี่ม้าบำบัด ( hippotherapy , riding therapy ) เป็นอีกวิธีการรักษาหนึ่งที่มีรายงานว่า เป็นประโยชนืทั้งทางด้านร่างกาย เช่น การทรงท่า การทรงตัว การเคลื่อนไหว และทางด้านจิตใจ ทำให้เด็กมีความสุข มีความมั่นใจในตนเอง กล้าที่จะเคลื่อนไหว ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น
          งานกายภาพบำบัดในเด็กที่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหวสามารถใช้ hippotherapy เป็นอีกวิธีการหนึ่งในการรักษาเด็กเนื่องจากกลไกการเดินของม้ามีลักษณะการเคลื่อนไหวเป็น 3 มิติ คล้ายคลึงกับแบบแผนการเดินของมนุษย์ เมื่อเด็กนั่งบนหลังม้าจะต้องพยายามรักษาการทรงตัวบนหลังม้า ขณะที่ม้าเดินจะมีการเคลื่อนไหวที่ส่งไปให้ร่างกายของเด็กเรียนรู้ที่จะปรับตัวถ่ายเทน้ำหนัก มีกลไกการตอบสนองของปฏิกิริยาการตั้งตัวตรง และรักษาสมดุล (righting reaction and equlibrium reaction) เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตามจังหวะการเดินของม้า ดังนั้น การให้เด็กได้นั่งบนหลังม้า ทำให้กล้ามเนื้อมีความตึงตัวใกล้เคียงปกติ ลดอาการเกร็ง ร่างกายมีการทำงานสมมาตรของกล้ามเนื้อลำตัวและสะโพก ทำให้การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่ดีขึ้น และมีผลต่อแบบแผนการเดินของเด็ก
         
การขี่ม้าบำบัดสามารถให้ผลดี คือ
          1. ด้านร่างกาย (Physical) ทำให้เด็กมีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงปกติมากขึ้น
          2. ด้านจิตใจ (mental) ทำให้เด็กมีความสุข สนุกสนาน มีความมั่นใจในตนเอง
          3. ด้านภาษา การสื่อสาร (speech and communication) ทำให้การเปล่งเสียงดีขึ้น
          4. ด้านบุคลิกภาพทางสังคม (personal social) ทำให้เด็กกล้ามากขึ้น กระตือรือร้นที่จะเรียรรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
         
ประโยชน์ที่ได้จากการขี่ม้าเพื่อการรักษา
          1. ความมั่นใจ (confidence)
          2. ความแข็งแรง (strength)
          3. การทรงตัว (balance)
          4. การทำงานประสานกัน (co-ordination)
          5. การเคลื่อนไหว (mobility)
          6. ความสุข สนุกสนาน (pleasure)
         
ผลด้านร่างกายจากการขี่ม้าเพื่อการรักษาเด็กสมองพิการ
          1. ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ปรับให้อยู่ใกล้เคียงกับปกติ เช่น หากเด็กมีอาการกล้ามเนื้อเกร็ง การขี่ม้าจะช่วยลดเกร็ง เด็กที่ปวกเปียกก็จะมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อมากขึ้น
          2. การทำงานสมมาตร การขี่ม้าทำให้ร่างกายทำงานสมมาตร
          3. การรักษาท่าทาง ส่วนหลังจะตรงมากขึ้น แนวลำตัวดีขึ้น
          4. การรักษาสมดุล และการทรงตัว จะทำได้ง่ายและมีคุณภาพมากขึ้น
          5. การปรับเปลี่ยนท่า เด็กจะปรับเปลี่ยนท่าคล่องตัวขึ้น และถูกแบบแผนมากขึ้น ลดการเคลื่อนไหวทดแทน
          6. การเคลื่อนไหว ยืน เดิน มีประสิทธิภาพมากขึ้น

การขี่ม้าบำบัดสามารถใช้กับผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายประเภท เช่น
          1. เด็กสมองพิการ (cerebral palsy)
          2. เด็กพัฒนาการล่าช้า (developmental delayed) เช่น ดาวน์ซินโดรม
          3. อารมณ์แปรปรวน (emotional disturbance)
          4. สมองได้รับบาดเจ็บ (head injuries)
          5. เด็กออทิสติก (autism)
          6. โรคโปลิโอ (poliomyelitis)
          7. ภาวะกระดูกสันหลังคด (scoliosis)
          8. สไปน่า ไบฟิดา (spina bifida)
          9. โรคหลอดเลือดในสมอง (stroke)

การขี่ม้าบำบัดอาจมีอันตรายกับเด็กบางประเภท จึงไม่ควรใช้กับเด็กกลุ่มอาการดังต่อไปนี้
          1. เด็กมีอาการกระตุก การชักที่ควบคุมไม่ได้
          2. เป็นไข้ มีอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน
          3. มีประวัติกระดูกหัก ข้อเคลื่อนได้ง่าย หรือมีพิสัยการเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ
          4. อารมณ์แปรปรวนรุนแรง ควบคุมได้ยาก
          5. ไม่สามารถสื่อสารได้เลย
          6. เด็กไม่สมัครใจ ปฏิเสธ มีอาการหวาดผวา

ความปลอดภัยและข้อควรสนใจ
          1. นักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด สัตวแพทย์ ทหารม้า และผู้ช่วยเดินข้างตัวม้า ควรผ่านการฝึกอบรม ทั้งด้านเด็กพิเศษและการขี่ม้าเพื่อการรักษา
          2. ต้องใช้ม้าเชื่อง คุ้นเคยกับการให้เด็กขี่ ควบคุมได้
          3. ควรเลือกม้าให้เหมาะสมกับลักษณะเด็กแต่ละราย ทั้งนิสิยม้าและขนาดที่เหมาะสม
          4. หากไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่เข้าไปใกล้หรอส่งเสียงดังในบริเวณที่มีม้าอยู่
          5. ควรรับคำแนะนำก่อนเข้าไปใกล้หรือสัมผัสม้า
          6. เด็กต้องผ่านการตรวจประเมิน อยู่ในเงื่อนไขที่เหมาะสม และตั้งเป้าหมายในการรักษา
          7. การเคลื่อนย้ายเด็กที่มีความจำกัดในการเคลื่อนไหวมาก เด็กตัวโต ต้องรู้วิธีช่วยเหลืออย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการขึ้นและลงจากหลังม้า ระมัดระวังความปลอดภัยให้เด็กมากที่สุด
 รูปที่ 1 เด็กสมองพิการขี่ม้าบำบัด

 รูปที่ 2 เด็กสมองพิการนั่งกางแขนบนหลังม้า

รูปที่ 3 นักศึกษากายภาพบำบัดนั่งกับเด็กที่ไม่สามารถนั่งเองปลอดภัย

 รูปที่ 4 เด็กสมองพิการบนหลังม้า

 รูปที่ 5 เด็กสมองพิการนอนหงายบนหลังม้า

          ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ โดยความร่วมมือกับ สาขาวิชาคลินิกม้า คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ริเริ่มการขี่ม้าบำบัดเมื่อปี พ.ศ. 2547 และได้ทำการวิจัยเป็นกรณีศึกษาในเด็กสมองพิการ จำนวน 2 ราย ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยทำการขี่ม้าบำบัดติดต่อกัน 8 สัปดาห์ๆละ 2 ครั้งๆละ 30 นาที ผลการศึกษาพบว่า เด็กสามารถทรงตัวในท่านั่ง และท่ายืนได้ระยะเวลานานขึ้น มีการตอบสนองของการหายใจดีขึ้น โดยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในการหายใจ และความยืดหยุ่นของทรวงอก ลดภาวะกระดูกสันหลังคด นอกจากนี้ มีข้อสังเกตและรายงานจากมารดาของเด็กว่า เด็กมีความสามารถในการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น ลำตัวตรงมากขึ้น เด็กที่เคยกลัวขนทุกชนิดก็หายกลัว กอดม้า เด็กที่ตาบอดทั้งพูดไม่ได้ สามารถพัฒนาระยะเวลาการขี่ม้าได้นานขึ้น และทุกคนมีความกระตือรือร้น มีความสุข รอวันที่จะได้มาขี่ม้า เด็กจะตื่นเต้น ตื่นแต่เช้า ปลุกผู้ปกครองเพื่อพามาขี่ม้า และยังคงเฝ้ารอคอยว่าจะได้มาขี่ม้าอีก
          ปัจจุบันยังมี Hippotherapy ในเด็กพิเศษ โดยความร่วมมือสนับสนุนจากกองพันสัตว์ต่าง ค่ายตากสิน อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

กายภาพบำบัดในสัตว์



ผศ.ศิริพันธุ์ คงสวัสดิ์
ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่



งานด้านกายภาพบำบัดในสัตว์.....จำเป็นหรือไม่

          แนวคิดเกี่ยวกับการฟื้นฟูและกายภาพบำบัดสำหรับสัตว์มิได้เป็นเรื่องแปลกใหม่ในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศออสเตรเลีย ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ ได้มีกลุ่มองค์กรนักกายภาพบำบัดที่ให้การรักษาสัตว์ (The Association of Chartered Physiotherapist in Animal Therapy) ก่อตั้งขึ้นในปี 1985 และมีหลักสูตรในระดับปริญญาโทในสาขา Veterinary Physiotherapy ที่ Royal Veterinary College, London ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกา สมาคมสัตวแพทย์อเมริกัน (American Veterinary Medical Association) ได้รับรองงานด้านกายภาพบำบัดไว้ในส่วนหนึ่งของ "Guidelines for Alternative and Complimentary Veterinary Medicine" ในปี 1996 โดยนิยามความหมายของงานกายภาพบำบัดในสัตว์ว่า "การใช้เทคนิคการรักษาแบบ noninvasive ในการให้การรักษาการบาดเจ็บของสัตว์ ซึ่งประกอบด้วยการออกกำลังกายเพื่อการรักษาฟื้นฟู การใช้เครื่องเลเซอร์ชนิดกำลังต่ำ (low-level lasers) การใช้คลื่น magnetic และ ultrasound และต้องกระทำโดยสัตวแพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดที่ได้รับการอบรมหรือขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องเท่านั้น โดยไม่หมายรวมถึงการรักษาด้วยวิธี chiropractic
          โปรแกรมการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดในสัตว์นิยมในม้าและสัตว์เลี้ยงในบ้าน เช่น สุนัข แมว มากที่สุด เนื่องจากม้าเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้ในการแข่งขัน ซึ่งมักประสบปัญหาการบาดเจ็บของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน ส่วนสัตว์ในบ้าน โดยเฉพาะสุนัขและแมว เปรียบเสมือนเพื่อนของมนุษย์ เจ้าของมักให้ความรัก และยินดีให้การรักษาเมื่อมีการเจ็บป่วยหรือแม้มีความพิการ จึงเป็นที่มาของบทบาทของงานกายภาพบำบัดในวงการสัตวแพทย์
          ระบบการรับส่งผู้ป่วยมารับการรักษาทางกายภาพบำบัด มีลักษณะเช่นเดียวกับในมนุษย์นั่นคือ ระบบการส่งต่อ ( referral system ) หรือการส่งปรึกษา ( consultation ) โดยแพทย์หรือสัตวแพทย์ เมื่อเห็นควรว่าปัญหาที่เกิดกับผู้ป่วยสมควรได้รับการฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด จึงเป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม และสำหรับสัตว์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการรักษาไม่น้อยไปกว่าสัตวแพทย์ คือ เจ้าของ เนื่องจากสัตว์ไม่สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้ด้วยภาษาหรือการบอกกล่าวแต่อาศัยการแสดงพฤติกรรม ซึ่งจัดเป็นภาษากาย ( nonverbal communication ) และเจ้าของผู้คุ้นเคยย่อมสามารถสื่อสารกับสัตว์เลี้ยงได้เข้าใจมากที่สุด รวมทั้งใช้เวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากกว่าผู้รักษา เจ้าของจึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะในการรักษษฟื้นฟูทางกายภาพบำบัด

ปัญหาที่พบได้บ่อยในการรักษาทางกายภาพบำบัด

          ตัวอย่างปัญหาในม้าและสุนัขที่พบได้บ่อยในการส่งต่อมารับการรักษาทางกายภาพบำบัด ได้แก่
          - ภายหลังการผ่าตัดทางระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ และระบบประสาท ตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม anterior cruciate ligament การผ่าตัดเพื่อยึดตรึงหรือจัดกระดูกสันหลัง เป็นต้น
          - ม้าที่มีปัญหาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ซึ่งมาจากการวางตำแหน่งของอานม้าไม่ถูกที่ การนั่งของผู้ขี่ที่ไม่สมดุลย์ ทำให้กล้ามเนื้อด้านใดด้านหนึ่งทำงานมากเกินไป ปัญหาทางโครงสร้างของขา เป็นต้น
          - สุนัขที่มีปัญหาข้อเสื่อม (degenerative joint disease) โดยเฉพาะเมื่อร่วมกับภาวะอ้วน หรือลักษณะการดำเนินชีวิตที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว (sedentary lifestyle)
          - ม้าแข่งที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เช่นเดียวกับในมนุษย์ กีฬาประเภทที่ต้องอาศัยความเร็วเพื่อการแข่งขัน รวมถึงกีฬาที่อาศัยทักษะ การมีนักกายภาพบำบัดประจำทีมที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของนักกีฬาได้

เหตุผลที่สัตว์ควรได้รับการรักษาทางกายภาพบำบัด

          ประโยชน์ที่สัตว์จะได้รับจากการรักษาทางกายภาพบำบัด เป็นเหตุผลเช่นเดียวกับมนุษย์ ได้แก่
          - ช่วยกระตุ้นการฟื้นตัว (recovery) จากความเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ
          - ช่วยลดความพิการ หรือความด้อยประสิทธิภาพในการใช้งาน อันเนื่องจากพยาธิสภาพหรือภาวะการเสื่อมตามอายุ (degenerative conditions)
          - ช่วยแก้ปัญหาทางระบบโครงร่างและกล้มเนื้อในกรณีที่มีความผิดปกติของโครงสร้างทางชีวกลศาสตร์
          - ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ความสามารถในการแข่งขัน

วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดที่ใช้ในสัตว์เลี้ยง

          วิธีการทางกายภาพบำบัดในสัตว์เลี้ยง โดยเฉพาะสุนัข ประกอบด้วย วิธีการหลักๆคือ
          การออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษา (Therapeutic exercise) อาจแบ่งได้เป็น
          การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรง (strengthening exercise) เนื่องจากปัญหาเรื่องการสื่อสาร การออกกำลังกายแบบ therapeutic exercise ไม่สามารถสั่งการให้สัตว์ออกกำลังกายแต่ละมัดกล้ามเนื้อได้ จึงใช้การฝึกในรูปแบบของ functional training ตัวอย่างเช่น assisted standing exercise (รูปที่ 1 ) ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตจำหน่ายอุปกรณ์ช่วยฝึกยืนรูปแบบต่างๆ เช่น harness สำหรับขาหน้า ขาหลัง ลำตัว, สายพยุงขาหลัง (bottoms up leash), mobility brace รวมถึงล้อเข็นสำหรับสุนัข (cart และ wheelchair) แต่ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก



รูปที่ 1 การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุง(harness) สำหรับขาหน้า และขาหลัง เพื่อฝึกลงน้ำหนักกล้ามเนื้อขา (ภาพจาก http://www.handicappedpets.com/)

          นอกจากนั้นวิธีการออกกำลังกายเพื่อการบำบัดรักษาที่เหมาะสมใช้กับสัตว์ คือ การกระตุ้นผ่านการรับรู้ของข้อต่อ (proprioception) (รูปที่ 2) ซึ่งสามารถใช้ฝึกเพื่อเพิ่มทักษะการทรงตัวได้ด้วย

 
รูปที่ 2 การกระตุ้น proprioception และฝึกการทรงตัว โดยใช้ therapeutic ball (ภาพจาก www.caninerehab.com/services.htm)

          การออกกำลังกายในน้ำ (aqutic exercise) เป็นการรักษาที่เป็นที่ยอมรับว่ามีประโยชน์และให้ผลการรักษาอย่างมีประสิทธภาพ โดยเฉพาะในระยะแรกภายหลังการบาดเจ็บหรือการผ่าตัดซึ่งสัตว์ยังมีอาการอักเสบหรือมีอาการเจ็บอยู่ (รูปที่ 3)

 
 รูปที่ 3 การออกกำลังกายในน้ำ
(ภาพโดย ผศ.น.สพ.ดร.กรกฏ งานวงศ์พาณิชย์)

          การใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด (Physical agent modalities) ประกอบด้วย การใช้ความร้อน ความเย็นระดับตื้น(Superficial thermotherapy) การใช้เครื่องมือไฟฟ้าเพื่อลดอาการปวดและการอักเสบ (electrophysical modalities) รวมทั้งการใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (electrical stimulation) เพื่อรักษาอาการปวดเช่นเดียวกับเครื่องมือที่ให้ความร้อนระดับลึก รวมทั้งเพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและเส่นประสาท ในกรณีที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อ
           การรักษาด้วยหัตถบำบัด (Manual Therapy) ประกอบด้วย
                    - การช่วยเคลื่อนไหวและการยืดกล้ามเนื้อ (passive range of mation and passive stretching) ในกรณีที่สัตว์ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวได้ด้วยตนเอง หรือมีการยึดติดของข้อ
                    - การนวด (massage) การกดจุดเพื่อคลายจุดกดเจ็บ (myofasial release, trigger point release)
                    - การขยับ ดัด ดึงข้อต่อและเนื้อเยื่ออ่อน (joint/soft tissue manipulation) โดยไม่รวมการฝังเข็ม และการรักษาด้วยวิธี chiropractic

          สำหรับประสบการณ์ด้านงานกายภาพบำบัดในสัตว์ของผู้เขียน เริ่มต้นจากการ)กิบัติงานร่วมกับทีมสัตวแพทย์ โรงพยาบาลช้าง จังหวัดลำปาง และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการให้การรักษาลูกช้างบาดเจ็บไขสันหลัง ทำให้เกิดอัมพาตของขาหลัง ซึ่งได้รับการคัดเลือกไปนำเสนอผลงานด้วยโปสเตอร์ในงานประชุม World Congress for Neurorehabilitation ที่ฮ่องกง ในปี พ.ศ. 2549 (รูปที่ 4) จนถึงปัจจุบันยังคงปฏิบัติงานร่วมกับคณะสัตวแพทย์ ในการวิจัย การเป็นวิทยากร และให้การรักษาทางกายภาพบำบัดแก่สัตว์ โดยเฉพาะสุนัข ผู้สนใจสามารถติอต่อได้ที่ ผศ.ศิริพันธุ์ และ กภ.ญ.บุษบา ฉั่วตระกูล ภาควิชากายภาพบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ E-mail: asphi004@chiangmai.ac.th, c_busaba@chiangmail.ac.th


รูปที่ 4 การฟื้นฟูลูกช้างบาดเจ็บไขสันหลัง


วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนางานกายภาพบำบัด กับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กภ.อัญภัชชา สาครขันธ์
โรงพยาบาลโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม
 
การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ดูเหมือนจะง่ายหากสามารถบูรณาการงานประจำ ให้เป็นงานคุณภาพได้ เช่นการอบรมให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตน แก่คนไข้ที่มารับบริการ แต่การทำเช่นนี้อาจได้ประโยชน์เพียงแค่คุณภาพของการให้บริการแก่คนไข้รายหนึ่งอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นมีจำนวนผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการการดูแล และต้องการความรู้ในการดูแลตนเอง ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้การดูแลคนไข้ให้ครอบคลุมมากที่สุด ในระยะเวลาจำกัด ก็คงจะหนีไม่พ้น “การอบรม” พอนึกถึงการอบรม ก็ทำนึกถึง “ห้องเรียน ห้องประชุม วิทยากร  อาหาร ค่าเดินทางและอีก จิปาถะ...” ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การบูรณาการงานประจำ เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความครอบคลุม นอกจากหัวและใจแล้ว คงต้องใช้แรงขับเคลื่อนอื่นอีก นั่นคือ “งบประมาณ”

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการในโรงพยาบาลชุมชน ดูเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากมากสำหรับ นักกายภาพบำบัด ตัวน้อยๆ เพราะในตอนนั้นเอง นักกายภาพบำบัดส่วนใหญ่เป็นเด็กจบใหม่ และยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งปีกยังไม่กล้าขายังไม่แข็ง เรื่องงบซึ่งเป็นเรื่องของผู้หลักผู้ใหญ่ในโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่นักกายภาพบำบัด ไม่อาจเข้าถึงและล่วงรู้ได้ ดังนั้นจะเห็นว่า การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ในช่วงปีแรกๆของการเข้าสู่วงการโรงพยาบาลชุมชนของนักกายภาพบำบัด จึงได้แค่การทำงาน รูทีน ไปวันวัน หรืออย่างมาก ก็เบิกงบประมาณจากเงินบำรุงโรงพยาบาลมาใช้ในโครงการต่างๆ...ซึ่งก็รู้สึกเกรงใจคนในโรงพยาบาลมิใช่น้อย เนื่องจาก มักจะได้ข่าวเนืองๆเสมอว่า เงินบำรุงน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด

และแล้ว ก็มีอัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาช่วย ในนาม..”สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช." ถ้าจำไม่ผิด ..สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อ ปี 2545  ภายใต้ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และสร้างนำซ่อม ในเวลาต่อมา ซึ่งเราเองก็งงว่ามันคืออะไร แล้วถ้าจ่ายแค่ 30 บาท แล้วโรงพยาบาละเจ๊งมั้ย ต่อมาอีกซักพัก ก็มีคำย่อให้เราได้งงกันอีก นั่นก็คือ CUP PCU CMU ซึ่งแรกๆ เราก็เรียกถูกเรียกผิด จนเดี๋ยวนี้ก็ยังแยกไม่ถูกว่าอะไรคืออะไร หนักเข้าไปใหญ่ เพราะปัจจุบันก็มี รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เข้ามาให้งงกันเข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีอะไร จะชื่อย่ออย่างไร ขอแค่ให้เราเข้าใจ concept งานของสปสช. ก็สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

ประเด็นแรก เรื่องงบประมาณ ที่สามารถขอได้จากสปสช.นั้น ปัจจุบันมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ที่ให้โรงพยาบาลที่มีนักกายภาพบำบัด สามารถของบประมาณเพื่อการจัดซื้อเครื่องช่วยความพิการได้ นอกจากนั้นแล้วในการดูแลเชิงรุกแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถบันทึกข้อมูลในโปรแกรม online ของ สปสช. ในอัตราค่าบริการทางกายภาพบำบัด 150 ต่อคนต่อครั้ง แล้วเชื่อมั้ยว่า..เงิน 150 บาท สามารถใช้เป็นงบประมาณในการบริหารจัดการงานกายภาพบำบัดและงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้เป็นอย่างดี พูดเรื่องนี้อาจยาว..เอาเป็นว่า โรงพยาบาลโกสุมพิสัย มีนักกายภาพบำบัดคนที่ 4 ก็จากงบประมาณส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม สปสช.ยังมีหลายช่องทางในการให้พวกเราของบประมาณ เพื่อมาขับเคลื่อนงานกายภาพบำบัด รวมถึงงานฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เช่น งบประมาณจาก กองทุนสุขภาพตำบล จริงอยู่ว่า งบประมาณก้อนนี้จะโอนไปที่ อบต. แต่ จากการบอกเล่าจากผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ว่าเราก็สามารถเขียนโครงการของบได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะเป็นโครงการที่ดำเนินการแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น  เรื่องงบประมาณยังมีอีกหลายกองทุน ไม่ว่าจะเป็น PP ,non-pp, pp-area base  ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ไม่ใคร่จะชัดเจนนักในงบประมาณเหล่านี้ เพราะกะว่าขอเอาที่มันชัวร์ๆ คือจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และกองทุนสุขภาพตำบล จะดีกว่า

ประเด็นที่สอง สปสช.มีการโอนงบประมาณ แบบเหมาจ่ายรายหัวให้กับสถานบริการ ตามรายหัวประชากร ประมาณหัวละ 2พันกว่าบาท หมายถึง หากโรงพยาบาลโกสุมพิสัยมีประชากร ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 1แสนคน คูณ 2 พัน = สองล้านกว่าๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร ดังนั้นตาม สโลแกนที่ว่า  30 บาท รักษาทุกโรค ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะ สปสช. ได้เหมาจ่ายมาให้แต่ละหน่วยบริการแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้เงินมาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะรักษา หรือให้บริการยังไงก็ได้ เราก็ยังต้องทำงานให้เต็มที่ ถูกต้อง แม่นยำ รวมไปถึงข้อมูลสารสนเทศด้วย เป็นต้นว่า การบันทึกข้อมูลการรักษาในระบบคอมพิวเตอร์ เพราะข้อมูลนี้จะถูกส่งไปยังสปสช. เพื่อจะแปลงข้อมูลเป็นเงิน มาล้างหนี้ให้โรงพยาบาลอีกที เอาล่ะสิคะ..จู่ๆโรงพยาบาลก็เป็นหนี้สปสช. จริงๆแล้วก็ไม่ใช่หนี้อะไร แต่เป็นเงินที่โอนมานั่นแหละค่ะ ประมาณว่า สปสช.ให้เงินเรามาก่อน แล้วเราก็ทำงานและบันทึกข้อมูลส่งสปสช. เพื่อเป็นการรายงานว่า ทำงานแล้วนะ คุ้มค่าเงินที่สปสช.ให้มาแล้วนะ อะไรประมาณนี้

พูดถึงเรื่องหนี้...ล่าสุด งานกายภาพบำบัดตรวจเท้าเบาหวาน เพื่อให้รองเท้าแก่ผู้ป่วยเบาหวาน สปสช.โอนเงินมาให้ ประมาณ 8 หมื่นกว่าๆ ดีใจหมดเลย แต่พออ่านรายงานจนบรรทัดสุดท้าย กลับบอกว่า “สปสช.ชะลอการจ่ายเงิน เนื่องจากโรงพยาบาลมีหนี้ค่าบริการทางการแพทย์ฯ...” ถึงตรงนี้แล้ว..เลยทำให้เรารู้ว่า...”โรงพยาบาลเป็นหนี้สปสช.จริงๆด้วย” ทุกวันนี้ เลยกลายเป็น ตรวจเท้าใช้หนี้...

ประเด็นที่สาม สปสช.ยังขยันที่จะสร้างนโยบาย นั่นนี่ ที่เราไม่อาจกระพริบตา เพราะเปลี่ยนบ่อย ก็เนื่องจาก สปสช.เป็นหน่วยงานที่การตรวจสอบคุณภาพเสมอ เรื่องการบริหารจัดการ ต้องยกนิ้วให้สปสช.เขาเลย

หากใครอยากตาม สปสช. ให้ทัน ต้องเข้าไปใน web nhso.go.th กันบ่อยๆ มีเรื่องราวสาระน่ารู้ ให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอๆ เพราะดูเหมือนว่า สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นพ่อ และมี สปสช. เป็นแม่ เพราะมีหน้าที่จ่ายสตังค์ให้กับลูกๆ ฉะนั้นลูกๆอย่างเรา ก็ต้องตั้งใจทำงาน เพื่อให้เงินที่แม่ให้มาคุ้มค่าที่สุด

สปสช.ยังมีอะไรๆอีกเยอะแยะ ที่เป็นระบบ โครงข่าย โยงใยกันซับซ้อน แต่ความซับซ้อนนี้ ก็เต็มไปด้วย นโยบายที่อยากให้คนไทยมีสุขภาพดี อยากรู้จัก สปสช. ต้องเข้าไปดูที่ web สปสช. ได้นะคะ

วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

กายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคเรื้อน

กายภาพบำบัดในผู้ป่วยโรคเรื้อน

กภ.เอกลักษณ์ ชาญนชา
นักกายภาพบำบัดชำนาญการพิเศษ
โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น


               โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อเรื้อรังทำให้เกิดอาการที่ผิวหนังและเส้นประสาทส่วนปลาย ทำให้เกิดความพิการของอวัยวะที่ใบหน้า ตา มือ และเท้า จากสภาพความพิการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคเรื้อนทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวนั้นเกิดความวิตกกังวล หมดกำลังใจ ไม่กล้าเปิดเผยตนเองกับสังคมเพราะอับอายความพิการที่เกิดขึ้นกับตนเอง ต้องเป็นภาระให้ผู้อื่น และสุดท้ายต้องถูกจำกัดสิทธิมนุษยชนจากสังคม กลายเป็นตราบาปที่สังคมมีต่อผู้ป่วยโรคเรื้อนที่มีความพิการทางร่างกาย โดยทั่วไปประชาชนจะมองว่า โรคเรื้อนเป็นโรคติดต่อร้ายแรงควรต้องแยกผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล หรือนิคมต่างๆเพื่อไม่ให้แพร่กระจายโรคไปสู่คนอื่นๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการยอมรับให้ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามปกติ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีความพิการในระดับที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือบางคนแม้จะไม่พิการ แต่ก็ไม่สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้
               ปัจจุบันปัญหาการเกิดความพิการระดับ 2 โดยเฉพาะการเกิดแผลใต้ฝ่าเท้าในผู้ป่วยโรคเรื้อนยังคงพบว่ามีอยู่ ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ลดลง รวมทั้งต้องสูญเสียทรัพยากรด้านการแพทย์ และงบประมาณในการดูแลรักษาใต้ฝ่าเท้า ซึ่งสาเหตุหลักของการนำมาสู่การเกิดแผลใต้ฝ่าเท้านั้นเกิดจากเส้นประสาทส่วนปลายถูกทำลาย (Peripheral nerve damage) การทำลายของเส้นประสาทส่วนปลายทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา ไม่รู้สึก ไม่สามารถรับรู้ภยันตรายที่เกิดขึ้นจากของแหลมคม ความร้อน ความเย็น ตลอดจนแรงกดทับที่ผิดปกติ โดยไม่รู้สึกเจ็บปวด จนเกิดการขาดเลือดของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นจนเกิดแผลในที่สุดและเมื่อมีแผลผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บ เดินลงน้ำหนักบริเวณที่มีแผล ก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และลุกลามเป็นแผลมะเร็งต้องถูกตัดขาไปทั้งๆที่สามารถป้องกันและฟื้นฟูได้โดยการที่ผู้ป่วยต้องรู้จักดูแลเท้าด้วยตนเองที่มีสภาพความพิการอย่างถูกต้อง
               ผู้ป่วยโรคเรื้อนทุกรายไม่จำเป็นต้องมีความพิการเสมอไป มีเพียงส่วนน้อยคือ ประมาณ 25-26% เท่านั้นที่มีความพิการ ซึ่งโดยมากเกิดตามหลังจากเป็นโรค หรือมีรอยโรคเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีอาการของความพิการเกิดขึ้นจนพัฒนาเป็นความพิการที่ถาวร สิ่งต่างๆเหล่านี้สามารถป้องกันและรักษาได้ถ้าได้รับการดูแลที่ถูกต้องและทันท่วงที เช่นผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการชาหรืออ่อนแรงของมือไม่เกิน 6 เดือน ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลเรื่องเส้นประสาทอักเสบอย่างถูกต้องและใกล้ชิด แต่ถ้าผู้ป่วยนิ้วมืองอหรือมีความพิการที่มือถาวรแล้ว ก็ยังมีวิธีช่วยผู้ป่วยได้อีก คือการผ่าตัดแก้ไขความพิการ เป็นต้น ดังนั้นในปัจจุบันงานด้านบริการกายภาพบำบัดมีบทบาทอย่างมากในแง่การส่งเสริมสุขภาพ การรักษา การป้องกัน รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อให้ผู้ป่วยและผู้พิการช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้พิการด้วย

สาเหตุของความพิการ
          การทำลายของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve damage) ในผู้ป่วยโรคเรื้อน ซึ่งโรคเรื้อนถือได้ว่าเป็นโรคที่ก่อให้เกิดพยาธิสภาพใน 2 ส่วนร่างกาย คือ ผิวหนังและเส้นประสาท ชนิดของเส้นประสาทที่มีพยาธิสภาพจากโรคเรื้อน พบได้ 2 ชนิด คือ
          1. เส้นประสาทส่วนปลาย(Peripheral nerve) ทำให้มีอาการคล้ำได้ เส้นประสาทโต
          2. เส้นประสาทที่ผิวหนัง(Cutaneous nerve) ทำให้มีอาการชาของผิวหนังบริเวณที่มีรอยโรคซึ่งอาการทั้งสองนี้ถือเป็น Cardinal sign ของการวินิจฉัยโรคเรื้อน การทำลายเส้นประสาทส่วนปลายสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยโรคเรื้อนได้ในทุกๆช่วงของการรักษาคือ ก่อนการรักษา ระหว่างรักษา และแม้กระทั่งระยะเฝ้าระวัง เมื่อผู้ป่วยมีการทำลายของเส้นประสาทส่วนปลายไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยยังไม่หายจากโรคเรื้อน เนื่องจากสาเหตุหลักของการทำลายเส้นประสาทมาจากปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อโรคเรื้อน




ภาพประกอบ 1 เส้นประสาทที่อาจถูกทำลายในผู้ป่วยโรคเรื้อน





ตารางที่ 1 เส้นประสาทที่ถูกทำลาย แยกตามอวัยวะ, ชนิดเส้นประสาท, ชื่อเส้นประสาท, การสูญเสียหน้าที่, Disability-Deformity ที่พบ


วัตถุประสงค์การดูแลผู้ป่วยทางกายภาพบำบัด
          1. เพื่อป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นใหม่
          2. เพื่อลดความพิการให้กลับคืนสู่สภาพปกติ หรือไม่ให้เกิดความพิการเพิ่มมากขึ้นและที่สำคัญต้องให้ผู้ป่วยสามารถนำกลวิธีต่างๆกลับไปปฏิบัติด้วยตนเองที่บ้านได้


วิธีการดูแลผู้ป่วยทางกายภาพบำบัด
          1. ให้สุขศึกษา สอนให้ผู้ป่วยรู้และเข้าใจเกี่ยวกับโรคเรื้อน และสิ่งต่างๆที่อาจตามมา เช่น
          - ภาวะแทรกซ้อนและความพิการต่างๆที่อาจเกิดกับผู้ป่วย
          - ภาวะแทรกซ้อนและความพิการต่างๆสามารถป้องกันได้
          - วิธีการการดูแลมือ เท้า และตาที่ชาและสูญเสียความรู้สึก
          2. รักษาและช่วยเหลือ ผู้ป่วยเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดในการรักษา เพราะงานการรักษาจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือและผู้ป่วยต้องนำไปปฏิบัติตามคำแนะนำได้ ดังนี้
          - การดูแลสภาพผิวหนัง มือ และเท้า โดยสอนให้ผู้ป่วยรู้วิธีการดูแลมือ เท้าโดยการแช่เท้าในน้ำ ขัดถูหนังแข็ง และการนวดน้ำมัน
          - การดูแลข้อต่อของมือและเท้า เพื่อให้ข้อต่อเหยียด เคลื่อนไหวได้ไม่มีการยึดติดของข้อต่อ โดยการสอนวิธีการบริหารข้อต่อของมือและเท้า
          - การดูแลให้กล้ามเนื้อมีกำลังแข็งแรงขึ้น โดยสอนวิธีการออกกำลังกล้ามเนื้อ มือ เท้า และตา เพื่อป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือเป็นอัมพาต
          - การให้คำแนะนำ และจัดหาอุปกรณ์ป้องกันให้กับผู้ป่วย เช่น รองเท้าสำหรับผู้ป่วยเท้าชา สูญเสียความรู้สึก แว่นตาสำหรับผู้ป่วยกระจกตาชาหรือตาหลับไม่สนิท เป็นต้น


ขั้นตอนการดูแลมือเท้าที่สูญเสียความรู้สึก
          เพื่อรักษาสภาพผิวหนังให้อยู่ในสภาพที่ดี คือผิวหนังอ่อนนุ่มไม่แห้งหรือแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดการแตกออกของผิวหนังและเป็นแผลในที่สุด
          1. ตรวจดูและคลำที่ฝ่ามือ
          - เพื่อดูว่าหลังการทำงานมีบาดแผลเกิดขึ้นหรือไม่
          - เพื่อดูว่ามีอาการปวด บวมแดงร้อนที่มือ และเท้าหรือไม่
          - เพื่อดูว่ามีหนังหนา/แข็ง ที่อาจเป็นอันตรายต่อมือเท้าได้
          2. แช่น้ำนาน 15-20 นาที (แล้วแต่สภาพผิวหนัง) เพื่อให้ผิวหนังชุ่มชื้น ง่ายต่อการขัดถูหนังแข็ง
          3. ขูดหรือขัด หลังจากแช่น้ำจนผิวหนังอ่อนนิ่มแล้ว ให้ใช้หินขัด เอาหนังหนาออก
          4. นวดน้ำมัน เพื่อเคลือบผิวไม้ให้น้ำระเหยออกไป ทำให้ผิวชุ่มชื้นและอ่อนนิ่ม
          5. นวดออกกำลัง มือและเท้า เพื่อคงสภาพความยืดหยุ่นของผิวหนัง กล้ามเนื้อและข้อต่อต่างๆไว้ให้เหมือนปกติ
          6. อุปกรณ์ป้องกัน เช่นรองเท้าพื้นนิ่มในรายที่สูญเสียความรู้สึก ใช้ถุงมือผ้าหยิบจับเวลาหุงอาหาร หรือเวลาออกแบบดัดแปลงอุปกรณ์ต่างๆให้ผู้ป่วยใช้ในชีวิตประจำวันอย่างปลอดภัยเป็นต้น


ของใช้ที่จำเป็นในการดูแลตนเอง (self care)


1. กระจก
2. อ่างน้ำหรือถัง
3. หินขัดหรือแปรง
4. สบู่
5. น้ำมันหรือวาสลีน


การดูแลมือ



การออกกำลังกล้ามเนื้อมือและนิ้วมือ



การดูแลเท้า


กรณีที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะเส้นประสาทอักเสบ (Nerve neuritis)

                    - Rest nerve
                    - Strengthening exercise

เส้นประสาท ulnar n.

เส้นประสาท common peroneal n.
                 

การตัดรองเท้าสปริงค์ชูป้องกันเท้าตกในกรณี กล้ามเนื้ออ่อนแรง



เทคนิคการออกกำลังกล้ามเนื้อมือ และเท้า
          จากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อนมา 15 ปี พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ป่วยคือ การเกิดแผลใต้ฝ่าเท้า ซึ่งนั่นก็เป็นสาเหตุมาจากการที่ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึก ดังแสดงในแผนภาพ

          จากสาเหตุดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความรู้สึกและ Intrinsic muscle weakness เป็นสาเหตุทำให้เวลาเดิน รองเท้ามักจะหลุดออกเสมอทำให้ผู้ป่วยต้อง compensated โดยการจิกนิ้วเท้าไว้กับพื้นรองเท้าตลอดเวลา ทำให้ Increase Claws toe มากขึ้น


          ดังนั้น ในเรื่องของการดูแลเท้าไม่ให้เกิดแผล จึงต้องเน้นในเรื่องของการป้องกันการเกิด หนังแข็ง(callus) ด้วยวิธีการแช่เท้า ขัดถูหนังแข็ง และสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม นั่นคือรองเท้าควรมีสายรัดส้น(Back strap) และพื้นรองเท้าต้องมีความนุ่ม เพื่อทดแทน Intrinsic muscle ที่ wasting ไป ร่วมกับการพักเท้า โดยการลงน้ำหนักส่วนนั้นให้น้อยที่สุด หรือไม่มีการลงน้ำหนักที่ส่วนนั้นเลย และถ้าในกรณีที่เกิดแผลใต้ฝ่าเท้าแล้วจะต้องรีบแนะนำให้ผู้ป่วยรีบรักษาแผลนั้นให้หายโดยเร็วที่สุด เพราะถ้าปล่อยให้แผลนั้นเป็นเรื้อรังนานๆอาจกลายเป็นแผลมะเร็งได้ในที่สุด และต้องสูญเสียอวัยวะนั้นไป ทั้งๆที่เราสามารถป้องกันได้

กรณีตัวอย่าง

แผลบริเวณหน้าเท้า (Forefoot ulceration)
           หลักการ : ออกแบบรองเท้าไม่ให้แผลมีการลงน้ำหนัก ยกกระดูก Metatarsal Head ให้ลอยขึ้น



 แผลบริเวณกลางเท้า (Mid foot ulcer)
          สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการมี protrusion ของกระดูก Talus and Navicular ในภาวะ Charcot foot ทำให้มี High pressure บริเวณดังกล่าว แต่เนื่องจากเป็นบริเวณที่ออกแบบรองเท้าค่อนข้างลำบากจึงนิยมเข้าเฝือก (Total contact casting) เพื่อ total off loading


และหลังจากผู้ป่วยรักษาแผลหายแล้วควรจะต้องสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสมเป็นประจำ ดังภาพ


          ดังนั้น จะเห็นว่างานด้านกายภาพบำบัดมีบทบาทอย่างมาก ในแง่การส่งเสริมสุขภาพ การรักษา การป้องกัน รวมถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้พิการช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด ไม่เป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม อีกทั้งเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและผู้พิการด้วย

บรรณานุกรม

          กรมควบคุมโรคติดต่อ. คู่มือการป้องกันความพิการและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยโรคเรื้อน. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพมหานคร : ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย, 2538.

          ธีระ รามสูต. เวชปฏิบัติทางโรคเรื้อน. กองโรคเรื้อน กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, 2525.

          พิมพวัลย์ บุญมงคล. "ขี้ทูต" โรคสังคมรังเกียจ : มนุษย์วิทยาการ : ตีตราของโรคเรื้อนในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย. วารสารสังคมศาสตร์การแพทย์, 2536.

          Price, J.E. "A study of Leprosy Patients with Deformities and the Implication for the Treatment of all Leprosy Patients." Leprosy Review. 5(1983) : 129-137.

          Watson, J.M. "Care of Feet with loss of felling." Essential Action to Minimise Disability in Leprosy Patient. 1988 : 21-24.

วันพุธที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สะท้อนแนวคิด "วิชาชีพกายภาพบำบัดในฝัน"



สะท้อนแนวคิด "วิชาชีพกายภาพบำบัดในฝัน"


สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย


จากการประชุมคณะกรรมการ สนกท. ครั้งที่ 4/2553 วันที่ 24 ตุลาคม 2553 ณ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ นายกิจชนะ แก้วแก่น นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานที่ประชุม ได้ให้คณะกรรมการกลางและคณะกรรมการ สนกท. ประจำสถาบันในแต่ละสถาบันช่วยกันวาดภาพภายใต้แนวคิด วิชาชีพกายภาพบำบัดในฝัน เพื่อเป็นการสะท้อนมุมมองวิชาชีพกายภาพบำบัดภายใต้บทบาทของนิสิตนักศึกษา ซึ่งในแต่ละสถาบันที่เข้าร่วมประชุมได้สะท้อนความคิด ดังนี้




มหาวิทยาลัยมหิดล



          แนวคิด : เป็นวิชาชีพที่มีให้เหมือนน้ำเปล่าที่ให้ประโยชน์แก่ร่างกาย ใส สะอาด และให้อย่างบริสุทธิ์ใจ



          แนวคิด : ทุกสถาบันคล้องใจเป็นหนึ่งเดียวกัน


มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์



          แนวคิด : - PT แทน วิชาชีพ
                   - สีเหลือง แทน ความรู้และประสบการณ์
                   - สีเขียว แทน น้ำใจช่วยเหลือ
                   - สีฟ้า แทน ความสามัคคี
                   - สีแดง แทน ความมุ่งมั่นในวิชาชีพ



มหาวิทยาลัยเชียงใหม่




          แนวคิด : อยากให้ PT ทำการรักษาด้วยใจจริงๆ ไม่ใช่ว่าคนไข้มาหาเราแล้วเราก็ทำแค่ hot pack กับ US เค้าอาจจะหายรู้สึกดีในช่วงระยะหนึ่ง แต่ถามว่าอาการที่แท้จริงหายไหม เค้าไม่หาย หรือเปรียบได้กับปวดให้ยาพาราให้ยาหม่อง แล้วแบบนี้เค้าจะมาหาเราทำไม ซื้อยากินเองก็ได้



มหาวิทยาลัยพะเยา




          แนวคิด : รูปนี้ดูดีๆมันเป็นสีขาว มันว่างเปล่า มันไม่มีอะไร พวกเราอยากให้ทุกคนใน PT คิดว่าตัวเองเป็นสีขาว เพราะสีขาวเนี่ย ! มันเติมสีอะไรก็ได้สีนั้น ก็เหมือนเราทำโดยไม่หวังสิ่งใดๆตอบแทน แต่ตัวเองกลับไม่เป็นสีขาว



มหาวิทยาลัยรังสิต




          แนวคิด : นักกายภาพบำบัดควรใช้ความรู้และทักษะในการช่วยเหลือประคับประคองผู้ป่วยให้หายจากอาการป่วยได้ และนักกายภาพบำบัดแต่ละคนควรมีความสามัคคีกัน เพื่อให้วิชาชีพกายภาพบำบัดมีความมั่นคงและก้าวหน้าต่อไปได้



มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ




          แนวคิด : นักกายภาพบำบัดเป็นเหมือนโดราเอมอนที่ทำได้ทุกอย่าง



มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์




          แนวคิด : วิชาชีพกายภาพบำบัดเหมือนต้นกล้าที่จะเปลี่ยนเป็นต้นไม้ที่มีราก คอยค้ำจุนสังคมไทยให้ดำเนินต่อไป



มหาวิทยาลัยหัวฉียวเฉลิมพระเกียรติ




          แนวคิด : มังกรเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของประเทศจีน ซึ่งคนจีนสร้างมังกรขึ้นจากสัตว์หลากหลายชนิดรวมกันเป็นมังกร ก็เปรียบเสมือนเด็กกายภาพบำบัดซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศไทย กระจายอยู่ทั่วทุกทิศทุกทางของประเทศ ถ้าเรารวมพลังกันก็จะเกิดเป็นความยิ่งใหญ่ เหมือนกับมังกรที่เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์


มหาวิทยาลัยคริสเตียน




แนวคิด : แสงอาทิตย์เปรียบเสมือนนักกายภาพบำบัดที่ส่องแสงคอยช่วยเหลือบำบัดทุกข์ให้กับคนไข้ทุกระดับ ซึ่งเปรียบได้กับต้นไม้ แม่น้ำ สัตว์ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน



จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




แนวคิด : PT คือ ยอดมนุษย์ ฉันทำได้ทุกอย่าง



มหาวิทยาลัยนเรศวร




แนวคิด : วิชาชีพกายภาพบำบัดเปรียบเสมือนตึกสูงที่มีความมั่นคง ประตูหน้าต่างมากมายเปรียบเสมือนบุคลากรและงานมากมายที่เราต้องทำเพื่อประชาชน ตึกจะเสร็จสมบูรณ์ได้และมีความมั่นคงได้ก็ขึ้นอยู่กับประตูหน้าต่าง ( บุคลกรร่วมกันทำงานจะทำให้เกิดความมั่นคงอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลออกไปสู่ชุมชนชนบทให้มีความมั่นคงตามไปด้วย )



มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์




แนวคิด :น้ำ สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างตามภาชนะที่ใส่ เปรียบเสมือนนักกายภาพบำบัดที่ปรับตัวได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะทำงานในชุมชนหรือโรงพยาบาลต่างๆ ไม่ว่าต้องเจอกับอะไร ก็สามารถจะเข้าใจและยอมรับในสิ่งนั้นๆได้