วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนางานกายภาพบำบัด กับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

กภ.อัญภัชชา สาครขันธ์
โรงพยาบาลโกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม
 
การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ดูเหมือนจะง่ายหากสามารถบูรณาการงานประจำ ให้เป็นงานคุณภาพได้ เช่นการอบรมให้ความรู้เรื่องการปฏิบัติตน แก่คนไข้ที่มารับบริการ แต่การทำเช่นนี้อาจได้ประโยชน์เพียงแค่คุณภาพของการให้บริการแก่คนไข้รายหนึ่งอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนั้นมีจำนวนผู้ป่วยอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการการดูแล และต้องการความรู้ในการดูแลตนเอง ดังนั้น การดำเนินการเพื่อให้การดูแลคนไข้ให้ครอบคลุมมากที่สุด ในระยะเวลาจำกัด ก็คงจะหนีไม่พ้น “การอบรม” พอนึกถึงการอบรม ก็ทำนึกถึง “ห้องเรียน ห้องประชุม วิทยากร  อาหาร ค่าเดินทางและอีก จิปาถะ...” ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ การบูรณาการงานประจำ เพื่อให้เกิดการดูแลผู้ป่วยให้เกิดความครอบคลุม นอกจากหัวและใจแล้ว คงต้องใช้แรงขับเคลื่อนอื่นอีก นั่นคือ “งบประมาณ”

ย้อนไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรื่องงบประมาณ การบริหารจัดการในโรงพยาบาลชุมชน ดูเป็นเรื่องที่เข้าถึงยากมากสำหรับ นักกายภาพบำบัด ตัวน้อยๆ เพราะในตอนนั้นเอง นักกายภาพบำบัดส่วนใหญ่เป็นเด็กจบใหม่ และยังเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งปีกยังไม่กล้าขายังไม่แข็ง เรื่องงบซึ่งเป็นเรื่องของผู้หลักผู้ใหญ่ในโรงพยาบาลจึงเป็นเรื่องที่นักกายภาพบำบัด ไม่อาจเข้าถึงและล่วงรู้ได้ ดังนั้นจะเห็นว่า การทำงานในโรงพยาบาลชุมชน ในช่วงปีแรกๆของการเข้าสู่วงการโรงพยาบาลชุมชนของนักกายภาพบำบัด จึงได้แค่การทำงาน รูทีน ไปวันวัน หรืออย่างมาก ก็เบิกงบประมาณจากเงินบำรุงโรงพยาบาลมาใช้ในโครงการต่างๆ...ซึ่งก็รู้สึกเกรงใจคนในโรงพยาบาลมิใช่น้อย เนื่องจาก มักจะได้ข่าวเนืองๆเสมอว่า เงินบำรุงน้อย ต้องใช้สอยอย่างประหยัด

และแล้ว ก็มีอัศวินขี่ม้าขาว เข้ามาช่วย ในนาม..”สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช." ถ้าจำไม่ผิด ..สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อตั้งเมื่อ ปี 2545  ภายใต้ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และสร้างนำซ่อม ในเวลาต่อมา ซึ่งเราเองก็งงว่ามันคืออะไร แล้วถ้าจ่ายแค่ 30 บาท แล้วโรงพยาบาละเจ๊งมั้ย ต่อมาอีกซักพัก ก็มีคำย่อให้เราได้งงกันอีก นั่นก็คือ CUP PCU CMU ซึ่งแรกๆ เราก็เรียกถูกเรียกผิด จนเดี๋ยวนี้ก็ยังแยกไม่ถูกว่าอะไรคืออะไร หนักเข้าไปใหญ่ เพราะปัจจุบันก็มี รพ.สต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) เข้ามาให้งงกันเข้าไปอีก อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีอะไร จะชื่อย่ออย่างไร ขอแค่ให้เราเข้าใจ concept งานของสปสช. ก็สามารถทำงานได้อย่างมีความสุข

ประเด็นแรก เรื่องงบประมาณ ที่สามารถขอได้จากสปสช.นั้น ปัจจุบันมีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ที่ให้โรงพยาบาลที่มีนักกายภาพบำบัด สามารถของบประมาณเพื่อการจัดซื้อเครื่องช่วยความพิการได้ นอกจากนั้นแล้วในการดูแลเชิงรุกแก่คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง สามารถบันทึกข้อมูลในโปรแกรม online ของ สปสช. ในอัตราค่าบริการทางกายภาพบำบัด 150 ต่อคนต่อครั้ง แล้วเชื่อมั้ยว่า..เงิน 150 บาท สามารถใช้เป็นงบประมาณในการบริหารจัดการงานกายภาพบำบัดและงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการได้เป็นอย่างดี พูดเรื่องนี้อาจยาว..เอาเป็นว่า โรงพยาบาลโกสุมพิสัย มีนักกายภาพบำบัดคนที่ 4 ก็จากงบประมาณส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม สปสช.ยังมีหลายช่องทางในการให้พวกเราของบประมาณ เพื่อมาขับเคลื่อนงานกายภาพบำบัด รวมถึงงานฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เช่น งบประมาณจาก กองทุนสุขภาพตำบล จริงอยู่ว่า งบประมาณก้อนนี้จะโอนไปที่ อบต. แต่ จากการบอกเล่าจากผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ว่าเราก็สามารถเขียนโครงการของบได้ อย่างไรก็ตาม ก็ควรจะเป็นโครงการที่ดำเนินการแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลนั้น  เรื่องงบประมาณยังมีอีกหลายกองทุน ไม่ว่าจะเป็น PP ,non-pp, pp-area base  ซึ่งตัวผู้เขียนเองก็ไม่ใคร่จะชัดเจนนักในงบประมาณเหล่านี้ เพราะกะว่าขอเอาที่มันชัวร์ๆ คือจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และกองทุนสุขภาพตำบล จะดีกว่า

ประเด็นที่สอง สปสช.มีการโอนงบประมาณ แบบเหมาจ่ายรายหัวให้กับสถานบริการ ตามรายหัวประชากร ประมาณหัวละ 2พันกว่าบาท หมายถึง หากโรงพยาบาลโกสุมพิสัยมีประชากร ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ 1แสนคน คูณ 2 พัน = สองล้านกว่าๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร ดังนั้นตาม สโลแกนที่ว่า  30 บาท รักษาทุกโรค ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะ สปสช. ได้เหมาจ่ายมาให้แต่ละหน่วยบริการแล้ว อย่างไรก็ตาม ได้เงินมาแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าจะรักษา หรือให้บริการยังไงก็ได้ เราก็ยังต้องทำงานให้เต็มที่ ถูกต้อง แม่นยำ รวมไปถึงข้อมูลสารสนเทศด้วย เป็นต้นว่า การบันทึกข้อมูลการรักษาในระบบคอมพิวเตอร์ เพราะข้อมูลนี้จะถูกส่งไปยังสปสช. เพื่อจะแปลงข้อมูลเป็นเงิน มาล้างหนี้ให้โรงพยาบาลอีกที เอาล่ะสิคะ..จู่ๆโรงพยาบาลก็เป็นหนี้สปสช. จริงๆแล้วก็ไม่ใช่หนี้อะไร แต่เป็นเงินที่โอนมานั่นแหละค่ะ ประมาณว่า สปสช.ให้เงินเรามาก่อน แล้วเราก็ทำงานและบันทึกข้อมูลส่งสปสช. เพื่อเป็นการรายงานว่า ทำงานแล้วนะ คุ้มค่าเงินที่สปสช.ให้มาแล้วนะ อะไรประมาณนี้

พูดถึงเรื่องหนี้...ล่าสุด งานกายภาพบำบัดตรวจเท้าเบาหวาน เพื่อให้รองเท้าแก่ผู้ป่วยเบาหวาน สปสช.โอนเงินมาให้ ประมาณ 8 หมื่นกว่าๆ ดีใจหมดเลย แต่พออ่านรายงานจนบรรทัดสุดท้าย กลับบอกว่า “สปสช.ชะลอการจ่ายเงิน เนื่องจากโรงพยาบาลมีหนี้ค่าบริการทางการแพทย์ฯ...” ถึงตรงนี้แล้ว..เลยทำให้เรารู้ว่า...”โรงพยาบาลเป็นหนี้สปสช.จริงๆด้วย” ทุกวันนี้ เลยกลายเป็น ตรวจเท้าใช้หนี้...

ประเด็นที่สาม สปสช.ยังขยันที่จะสร้างนโยบาย นั่นนี่ ที่เราไม่อาจกระพริบตา เพราะเปลี่ยนบ่อย ก็เนื่องจาก สปสช.เป็นหน่วยงานที่การตรวจสอบคุณภาพเสมอ เรื่องการบริหารจัดการ ต้องยกนิ้วให้สปสช.เขาเลย

หากใครอยากตาม สปสช. ให้ทัน ต้องเข้าไปใน web nhso.go.th กันบ่อยๆ มีเรื่องราวสาระน่ารู้ ให้เราได้เรียนรู้อยู่เสมอๆ เพราะดูเหมือนว่า สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง มีกระทรวงสาธารณสุขเป็นพ่อ และมี สปสช. เป็นแม่ เพราะมีหน้าที่จ่ายสตังค์ให้กับลูกๆ ฉะนั้นลูกๆอย่างเรา ก็ต้องตั้งใจทำงาน เพื่อให้เงินที่แม่ให้มาคุ้มค่าที่สุด

สปสช.ยังมีอะไรๆอีกเยอะแยะ ที่เป็นระบบ โครงข่าย โยงใยกันซับซ้อน แต่ความซับซ้อนนี้ ก็เต็มไปด้วย นโยบายที่อยากให้คนไทยมีสุขภาพดี อยากรู้จัก สปสช. ต้องเข้าไปดูที่ web สปสช. ได้นะคะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น