วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สนกท.ในฝัน

สนกท.ในฝัน

นศก.อมรเทพ จันทร์แก้ว
นักศึกษากายภาพบำบัด ชั้นปีที่ 1
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
                   


                    พุทธศาสนสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ แต่ในความจริงนั้นคนเราทุกคนเมื่อมีเกิด ย่อมมีแก่ เจ็บ และตายในที่สุด เป็นวัฏจักรของชีวิตเรา ไม่มีใครสามารถจะล่วงพ้นไปได้ แม้แต่พุทธองค์ การที่เราได้เกิดมาในบนโลกนี้เพียงครั้งหนึ่งเราควรทำให้ชีวิตของเราดำรงอยู่อย่างยืนยาวพยายามที่จะหลีกหนี ป้องกันจากโรคภัยที่จะเกิดขึ้นอันเป็นผลเสียต่อสุขภาพเราและอาจถึงแก่ชีวิตได้โดยเร็วแต่เมื่อมีคนรู้วิธีการรักษาป้องกันโรคภัยนั้น ก็อาจจะเป็นการช่วยชีวิตเพื่อนมนุษย์ได้ การที่เกิดโรคภัยขึ้นก็เสมือนเป็นการประลองความคิดในการคิดค้นวิธีการป้องกันโรคภัยนั้นของผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขไม่ว่าเป็น แพทย์ พยาบาล หรือบุคลากรทางสาธารณสุขด้านต่างๆ ที่จะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้กลับมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพราะเมื่อคนเราได้อันตรายอันเป็นเหตุให้เกิดโรคภัย อุบัติเหตุ เสื่อมเสียความบกพร่องของร่างกายและจิตใจ สิ่งหนึ่งที่สามารถจะช่วยเหลือให้เขากลับมามีชีวิตที่ดีขึ้นนอกเหนือจากการรักษาโดยวิธีการใช้ยาคือการทำกายภาพบำบัด

 
                    กายภาพบำบัด คือ การกระทำต่อมนุษย์เกี่ยวกับการตรวจประเมิน การวินิจฉัยและการบำบัดความบกพร่องของร่างกายซึ่งเกิดเนื่องจากภาวะของโรคหรือการเคลื่อนไหวที่ไม่ปกติ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกัน การแก้ไขและฟื้นฟูความเสื่อมสภาพความพิการของร่างกายและจิตใจ ด้วยวิธีการทางกายภาพบำบัด ซึ่งได้แก่ การดัด การดึง การประคบ การนวด การบริหารร่างกาย หรืออวัยวะส่วนหนึ่งส่วนใดของผู้ป่วย ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการกระทำด้วยวิธีการต่างๆ ดังกล่าวตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือการกระทำอื่นที่รัฐมนตรีประกาศเป็นวิธีการทางกายภาพบำบัด หรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ตามหลักวิทยาศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศเป็นเครื่องมือกายภาพบำบัด ซึ่งผู้ที่จะสามารถทำกายภาพบำบัดได้นั้นจะต้องได้รับการฝึกฝนเรียนรู้ มีความรักในอาชีพที่จะประกอบ ตามหลักที่ว่า “สองมือ หนึ่งสมอง ประคองชีวิต” หมายถึงการใช้สองมือ และใช้ความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย  ในปัจจุบันการรักษาด้วยกายภาพบำบัดได้เป็นที่รู้จักและแพร่หลายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นต่างประเทศหรือโรงพยาบาลภายในประเทศไทยของเรา ก็ได้มีการรวมกลุ่มก่อตั้งเพื่อส่งเสริมเรียนรู้เผยแพร่ในด้านกายภาพบำบัด ดังเช่น  สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ที่มุ่งเน้นในเรื่องของความรู้ความสามารถด้านกายภาพบำบัด ในความใฝ่ฝันที่สังคมอยากเห็นการทำงานของสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย คือ การทำงานที่มุ่งเน้นหลักการอยู่ ๔ ประการ คือ “สืบสาน ส่งเสริม สร้างสรรค์  สู่ชน”  ประการแรกคือ สืบสาน หมายถึงการที่สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดจะต้องสืบสานงานกายภาพบำบัดที่เป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมแน่วแน่ในการสืบสานปณิธานเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยสืบต่อไป  ประการที่สอง ส่งเสริม หมายความว่า จะต้องเป็นสหพันธ์ที่ส่งเสริมการคิดค้นวิจัย คิดค้นกิจกรรมด้านกายภาพบำบัด เช่น ส่งเสริมการออกกำลังกาย ส่งเสริมการทำกายบำบัดของผู้ป่วย ประการที่สาม คือ สร้างสรรค์ หมายถึง การเป็นสหพันธ์ที่สามารถสร้างสรรค์องค์ความรู้ ความสามารถ ในการคิดค้นผลงาน สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างประโยชน์ในทางกายภาพบำบัดเพื่อช่วยในการรักษาผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีและมีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ  ประการที่สี่ คือ สู่ชน หมายถึง เป็นสหพันธ์ที่เข้าถึง      ปวงชนอย่างแท้จริง ช่วยเหลือผู้ป่วยทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะเหลือช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถของตน เพื่อพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นและหายขาดจากโรคภัย  ซึ่งทั้งสี่ประการที่กล่าวมา สามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษาภายภาพบำบัดแห่งประเทศไทยและการเป็นนักกายภาพบำบัดที่สมบูรณ์เพียบพร้อมทั้งความรู้และคุณธรรม เห็นแก่ประโยชน์สุขของคนอื่นเป็นอันดับหนึ่ง ประโยชน์ส่วนตนเป็นอันดับสอง ดังพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชบิดาแห่งการแพทย์ไทย ที่กล่าวไว้ว่า “ฉันไม่ได้ต้องการให้เธอเป็นหมอเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นคนด้วย ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สองประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง”

                    ดังนั้นความต้องการของสังคม ของประชาชน คือการปรารถนาที่จะไม่มีโรคภัย แต่หากจะข้ามพ้นจากโรคภัยนั้นได้จำเป็นต้องพึ่งพาจากความรู้ความสามารถของบุคลากรทางด้านสาธารณสุขรวมถึงนักกายภาพบำบัด ที่จะสามารถช่วยเหลือให้พ้นจากโรคภัยได้ผ่อนความเจ็บปวดให้ทุเลาลงได้ แต่ความเป็นนักกายภาพบำบัดที่ดี จะต้องมีความรักความสามัคคีสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ดังเช่น สหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย ที่จะสามารถทำงานได้ดีตามความต้องการของประชาชน ของสังคม คือ สามารถสืบสานความรู้ ส่งเสริมความสามรถ สร้างสรรค์ผลงาน และเข้าถึงสู่ประชาชน มุ่งทำประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน คิดถึงผู้อื่นเป็นหลักในการทำงาน เพียงเท่านี้ก็เชื่อว่าจะเป็นสหพันธ์นิสิตนักศึกษากายภาพบำบัดที่เพียบพร้อมความรู้ สมบูรณ์ด้วยคุณธรรม ก้าวนำสู่ความเป็นเลิศในด้านกายภาพบำบัดสากลต่อไป


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น